ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าหลังยอดค้าปลีกเดือนเมษายนปรับตัวลดลง

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/5) ที่ระดับ 31..52/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (15/5) ที่ระดับ 31.58/60 บาท/ดอลลาร์สหรับ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง หลังเมื่อวาน (15/5) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกลดลงร้อยละ 0.2 ในเดือนเมษายน สวนทางกับระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3

นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ ในเดือนเมษายนปรับตัวลงร้อยละ 0.5 ต่างจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะคงที่ โดยดัชนีดังกล่าวได้รับผลกระทบจากปริมาณการผลิตรถยนต์ และอะไหล่ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 17.8 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน และสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 8.0 นอกจากนี้ระหว่างวัน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปี 2562 นี้ มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากสถานการณ์การค้าโลกรุนแรงกว่าคาด ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน ขณะที่ค่าเงินบาทยังมีความผันผวน โดยมีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.50-31.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.59/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/5) ที่ระดับ 1.1206/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (15/5) ที่ระดับ 1.1199/200 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรแข็งค่าเล็กน้อยหลังเมื่อวาน (15/5) มีรายงานผลผลิตมวลรวมภายในประเทศประจำไตรมาสที่ 1 ในปีนี้ (2562) ของสหภาพยุโรปและเยอรมนีว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ทั้งคู่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ในปีที่แล้ว (2561) เท่ากับระดับที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ อีกทั้งมีรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนเมษายนของฝรั่งเศสได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 มากกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 นอกจากนี้เงินยูโรยังได้รับแรงหนุนจากรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศซึ่งระบุว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีแผนที่จะชะลอการเรียกเก็บภาษีต่อรถยนต์นำเข้าจากยุโรปออกไปอีก 6 เดือน เนื่องจากไม่ต้องการเปิดสงครามการค้ากับยุโรป ขณะที่สหรัฐยังคงมีความขัดแย้งทางการค้ากับจีน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1199-1.1225 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1209/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/5) ที่ระดับ 109.42/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (15/5) ที่ระดับ 109.35/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยน
อ่อนค่าลงเนื่องจากนักลงทุนได้คลายความกังวลลงเล็กน้อยหลังรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีแผนที่จะชะลอการเรียกเก็บภาษีต่อรถยนต์นำเข้าจากยุโรปออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และประเทศยุโรป ส่งผลให้นักลงทุนถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยน้อยละ อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อในระดับค้าส่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ดัชนีดังกล่าวปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 28 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.32-109.59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.54/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจ ในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (16/5), ดัชนีการผลิตเดือนพฤษภาคม จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (16/5), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนเมษายนจาก Conference Board (17/5), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (17/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.40/-2.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.8/-2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ