บาททรงตัว ก่อนการประกาศตัวเลขแรงงานสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม-1 กันยายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (28/8) ที่ระดับ 33.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ก่อนหน้า (25/8) ที่ระดับ 33.29/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (25/8) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนปรับตัวลดลง 6.8% ในเดืนอ ก.ค. โดยทำสถิติทรุดตัวลงมากที่สุนับตั้งแต่เดือน ส.ค. ปี 2014 และต่ำกว่าระดับคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง 6.0% ในขณะที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้ส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงิน และช่วงเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง โดยพุ่งความสำคัญไปยังเรื่องของวิกฤตการณ์ทางการเงินในอดีต และสิ่งที่เจ้าหน้าที่เฟดได้ดำเนินการเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน นางเยลเลนกล่าวเตือนว่า วิกฤตทางการเงินในอนาคตอาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ภาวะทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ได้ให้บทเรียนที่สำคัญแก่ทุกคน ในขณะที่สถานการณ์การเมืองระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ หลังจากเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธวาซอง-12 ได้ลอยข้ามญี่ปุ่น และไปตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิกในบริเวณที่อยู่ใกล้เกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่นในช่วงเช้าวันอังคาร (29/8) ขณะที่สหรัฐและเกาหลีใต้อยู่ในช่วงที่ทำการซ้อมรบประจำปีร่วมกัน โดยสำนักข่าวยอนฮัพของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของสหรัฐ และเกาหลีใต้ตกลงกันที่จะทำการตอบโต้อย่างแข็งกร้าวต่อการยิงขีปนาวุธลูกล่าสุดของเกาหลีเหนือ รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรการทางทหารที่ไม่เฉพาะเจาะจง ประธานเสนาธิการร่วมของสหรัฐและเกาหลีใต้ได้ตกลงกันทางโทรศัพท์ที่จะดำเนินมาตรการตอบโต้ในเวลาเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้ยืนยันว่าในขณะนี้ยังคงไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงการซ้อมรบร่วมที่จัดขึ้นโดยกองทัพของเกาหลีใต้และของสหรัฐ ซึ่งการกระทำของเกาหลีเหนือครั้งนี้ทำให้ทางสหรัฐเองต้องหาวิธีรับมือเพิ่มเติม โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์  ของสหรัฐได้มีการตกลงกับนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ของญี่ปุ่นที่จะเพิ่มแรงกดดันต่อเกาหลีเหนือหลังการยิงขีปนาวุธลูกล่าสุด อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2560 (30/8) ระบุเศรษฐกิจมีการขยายตัว 3.0% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 2.6% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.7% ตัวเลข GDP ที่ได้รับการปรับทบทวนล่าสุดนี้นับว่าเป็นอัตราขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 2 ปี ในขณะที่บริษัทวิจัยตลาดแรงงานสหรัฐ ADP เปิดเผยในรายงานว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 237,000 ตำแหน่งในเดือนสิงหาคม มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นราว 185,000 ตำแหน่ง

 

ส่วนความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่ายังไม่มีมาตรการเพิ่มเติมคุมเก็งกำไรค่าเงินบาท และยืนยันจะดูแลตามพื้นฐานเศรษฐกิจ โดยนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท.ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากสถาบันการเงินเพื่อให้รายงานข้อมูลในเชิงลึกกว่าระดับปกติในกรณีพบเห็นพฤติกรรมการโอนเงินบาทระหว่างบัญชีของผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-residents) ที่ผิดปกติ และอาจเกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรค่าเงิน แต่ขณะนี้ยังไม่พบเห็นความผิดปกติเกิดขึ้น และยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อมาจำกัดโอกาสการเก็งกำไรค่าเงิน อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ทำหนังสือเวียนไปถึงสถาบันการเงิน เพื่อขอความร่วมมือให้ติดตามการทำธุรกรรมเงินบาทของผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.14-33.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 33.17/33.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

 

ด้านการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (28/8) ที่ระดับ 1.1921/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/8) ที่ระดับ 1.1802/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่แจ็กสัน โฮล โดยไม่ได้มีการส่งสัญญาณการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (25/8) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Ifo ได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนี ประจำเดือน ส.ค. ออกมาเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 115.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 116.0 แต่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 115.5 อีกทั้งยังเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 110.5 ในเดือนสิงหาคม จากระดับ 109.8 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง เนื่องจากมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นเกี่ยวกับการคาดการณ์แนวโน้มทางธุรกิจ และทาง Gfk ได้มีการจัดทำผลสำรวจจากการสอบถามชาวเยอรมนีราว 2,000 คน โดยผลระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเยอรมนีปรับขึ้นจาก 10.8 ในเดือนสิงหาคม สู่ 10.9 ในเดือนกันยายน ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2001 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2560 ของฝรั่งเศสระบุว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัว 0.5% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเท่ากับตัวเลขประมาณการเบื้องต้น ทั้งนี้นับเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกันที่เศรษฐกิจฝรั่งเศสขยายตัวในอัตรา 0.5% โดยปัจจัยที่ช่วยหนุน GDP ไตรมาส 2 ของฝรั่งเศสให้ยังคงขยายตัวได้ดีนั้น มาจากการส่งออกที่ขยายตัวขึ้น 2.5% ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวขึ้น 0.3% จากระดับ 0.1% ไตรมาสแรก ในขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (Insee) เปิดเผยว่า การใช้จ่ายผู้บริโภคของฝรั่งเศสประจำเดือนกรกฎาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ 0.4% และ 1% ตามลำดับ ทั้งนี้ข้อมูลที่แข็งแกร่งเกินคาดนี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจของฝรั่งเศสอาจขยายตัวต่อไปในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากขยายตัวดีในช่วงครึ่งปีแรก โดยในไตรมาสที่ผ่านมา เศรษฐกิจฝรั่งเศสขยาย 0.5% เช่นเดียวกับทั้งสองไตรมาสก่อนหน้าทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1823-1.2070 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 1.1898/1.1899 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

 

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (28/8) 109.14/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/8) ที่ระดับ 109.59/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยมีสาเหตุจากความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี โดยนายทาโร อาโสะ รมว.คลังญี่ปุ่นกล่าวว่า เขาจะเดินทางเยือนสหรัฐตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน เพื่อจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับนายไมค์ เพนช์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ ก่อนการประชุมเศรษฐกิจระดับทวิภาคีรอบสองที่กำหนดจัดขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ดีค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์หลังจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือลดความรุนแรงลง อีกทั้งกระทรวงสื่อสารและกิจการภายในประเทศของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า (29/8) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นปรับตัวลง 0.2% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีในเดือนมิถุนายน โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือนกรกฎาคมออกมาสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7% และบดบังถ้อยแถลงของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า เศรษฐกิจภายในประเทศกำลังฟื้นตัวขึ้น ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.27-110.67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 110.05/110.06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ