เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบรอผลการโหวตประธานสภาผู้แทนราษฎร

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 21-24 พฤษภาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันอังคาร (21/5) ที่ระดับ 31.84/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (17/5) ที่ระดับ 31.74/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์จากแรงหนุนของตัวเลขผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ระบุว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 102.4 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 97.5

รวมไปถึงการที่นักลงทุนส่วนใหญ่ได้คลายความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ ได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสงครามการค้าว่า สหรัฐและจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อยุติการทำสงครามการค้าในที่สุด ถึงแม้ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายยังคงมีความขัดแย้งในการเจรจา พร้อมกับได้กล่าวว่าในแง่ของเศรษฐกิจมหภาค จึนควรตกลงต่อทุกสิ่งที่สหรัฐได้ร้องขอเนื่องจากจะก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ประกาศยกเลิกเป็นการชั่วคราวต่อคำสั่งห้ามบริษัทสหรัฐ ในการดำเนินธุรกิจกับบริษัทหัวเหว่ย (Huawei) โดยอนุญาตให้มีการอัพเดทซอฟท์แวร์เพื่อให้ผู้ใช้ยังคงใชังานโทรศัพท์ของหัวเหว่ยได้ ซึ่งการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวจะมีผลถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2562

แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง เนื่องจากนักลงทุนเริ่มกลับมากังวลถึงความตึงเครียดในเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอีกครั้ง หลังนายเกา เฟิง โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีน กล่าวว่า การดำเนิินการทางด้านการค้าของสหรัฐในระยะนี้ กำลังเป็นอุปสรรคขัดขวางการเจรจาการค้ากับจีน ซึ่งถ้าสหรัฐต้องการให้การเจรจาการค้าดำเนินต่อไป สหรัฐจะต้องมีความจริงใจในการแก้ไขการกระทำที่ผิดพลาด หลังจากนั้นการเจรจาจึงจะเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากการเปิดเผยรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประจำวันที่ 30 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม ที่มีทิศทางให้คงอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ได้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับร้อยละ 2.25-2.50 พร้อมกับเน้นย้ำถึงการใช้ความอดทนในการกำหนดนโยบายทางการเงิน และระบุว่าเฟดไม่มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้นี้ โดยพิจารณาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งเติบโตในระดับปานกลาง โดยได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจและการเงินทั่วโลกยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเกือบตลอดทั้งสัปดาห์ หลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ไตรมาสที่ 1 ขยายตัวที่ระดับ 2.8% นับว่าชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับการขยายตัวที่ระดับ 3.6% ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.0% โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกรวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งส่งผลให้การส่งออกสินค้าปรับตัวลดลง นับเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 17 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2557

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานว่ายอดสินค้านำเข้าในเดือนเมษายน ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.57 เมื่อเทียบรายปี ปรับตัวต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงที่ร้อยละ 2.00 ในขณะที่ยอดสินค้านำเข้าปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.72 เมื่อเปรียบเทียบรายปี ปรับตัวดีขึ้นกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงร้อยละ 4.25 ซึ่งจากตัวเลขที่ออกมาเป็นการสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาทและทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตารอในส่วนของการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันเสาร์นี้ (24/5) ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.77-32.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (24/5) ที่ระดับ 31.84/85 บาท/ดอลลาร์

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรนั้น เปิดตลาดวันอังคาร (21/5) ที่ระดับ 1.1162/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/5) ที่ระดับ 1.1163/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบแคบตลอดทั้งสัปดาห์ หลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่มีการเปิดเผยอย่างไร้ทิศทาง โดยเฉพาะตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซน ปรับตัวขึ้น 1.7% ในเดือนเมษายน สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อให้อยู่ใกล้ แต่ไม่เกินระดับ 2% นอกจากนี้นักลงทุนยังคงจับตารอผลการเลือกตั้งสภายุโรปที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 พฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1106-1.1205 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1189/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันอังคาร (21/5) ที่ระดับ 110.14/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/5) ที่ระดับ 109.65/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์จากการแข็งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการเข้าถือครองของนักลงทุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างสหรัฐและจีน โดยจีนกำลังพิจารณาออกมาตรการที่มีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งนักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนเรื่อง Brexit หลังจากมีข่าวว่า นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ อาจจะประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันศุกร์นี้ หลังจากที่ต้องเผชิญแรงกดดันทั้งจากพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาล อันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการผลักดันข้อตกลง Brexit ให้ผ่านการอนุมัติของรัฐสภาอังกฤษ โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.45-110.67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ