“พิพิธ” ชู 3 สูตรลับ KBANK ยกระดับคนในองค์กรสู่ดิจิทัลแบงกิ้ง

งานสัมมนา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ครบรอบ 43 ปี ปีนี้จัดหัวข้อ “Game Changer Part II เกมใหม่เปลี่ยนอนาคต” โดยหนึ่งในวิทยากรที่ขึ้นเวที เป็นนายแบงก์ใหญ่ค่ายสีเขียว “พิพิธ เอนกนิธิ” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ซึ่งให้มุมมองที่น่าสนใจดังนี้

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ธนาคารเติบโตบน S-curve ที่ 1 ที่มาจากนวัตกรรมที่ทั่วโลกให้การยอมรับ นั่นคือ ระบบ ATM ส่งผลให้คนไม่ไปสาขา และทำให้การบริหารจัดการเงินสดส่วนตัวและธุรกิจทำได้ง่ายขึ้น ขณะที่วันนี้โลก landscape ทุก ๆ อุตสาหกรรม และพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป ทั้ง KBANK และวงการการเงินการธนาคาร จะเดินต่อไปบน digital space เพื่อให้ทันโลกและตอบโจทย์การใช้นวัตกรรมมาสร้างบริการที่ดีขึ้น ซึ่งจากผลสำรวจหลายครั้ง เมื่อธนาคารออกบริการทางการเงินใหม่ ๆ มักจะได้รับผลตอบรับที่ดีเสมอ

“วันนี้เราอยู่ในโหมด S-curve ที่ 2 อาจจะเจออะไรที่เป็นอุปสรรคในใจหรือในองค์กรผ่านการเปลี่ยนแปลงของโลก เนื่องจากธุรกิจเดิมก็ต้องทำ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องยอมรับว่า ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ยังต้องการให้บริษัทโชว์ผลประกอบการที่ดี ขณะเดียวกันหากบริษัทต้องนำเงินไปลงทุนในเทคโนโลยี อาจทำให้ผลการดำเนินงานที่ไม่ดีนัก แต่หากลงทุนน้อยก็อาจจะไม่ทันเกม เพราะฉะนั้นบริษัทจะต้องคิดว่าบน S-curve ที่ 2 จะเริ่มลงทุนอะไร และจะจัดการกับองค์กรอย่างไร”

โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้นำ digital technology มาเปลี่ยนและขับเคลื่อนองค์กร ผ่าน 3 สูตร ได้แก่ 1.เปลี่ยนค่านิยมองค์กรให้คนในองค์กรเชื่อและทำออกมา 2.Change the way we work (เปลี่ยนวิธีการทำงาน) ให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง เพราะไม่มีวันได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ด้วยการทำงานแบบเดิม และ 3.หาพันธมิตร ทั้งคู่ค้า คู่แข่ง และลูกค้า ที่จะร่วมสร้างสิ่งใหม่ ๆ

“วันนี้วงการธนาคารเดินเข้ามาสู่ digital era (ยุคดิจิทัล) ที่ทุกอย่างอยู่บนมือถือ โดย transaction (ยอดธุรกรรมการเงิน) บนมือถือ ปัจจุบันสูงกว่าหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่องทางอื่น ๆ เช่น ธุรกรรมบนแอปพลิเคชั่นเคพลัส (K+) ที่สูงถึง 15 ล้านธุรกรรมต่อวัน และมีมาร์เก็ตแชร์เกือบ 50% ในตลาด”

ที่ผ่านมา KBANK เคยประกาศจะเป็นธนาคารอัจฉริยะ โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี 3 เรื่อง ได้แก่ 1.บล็อกเชน ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ 14 แห่ง จัดตั้งบริษัท ไทยแลนด์ บีซีไอ เพื่อให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจ มีความปลอดภัยสูง แม่นยำ และยังเป็นการลดต้นทุนอีกด้วย

2.AI (ปัญญาประดิษฐ์) ที่จะนำมาขับเคลื่อน วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อยกระดับธนาคารไปสู่ธนาคารอัจฉริยะ 3.machine lending เพื่อปล่อยสินเชื่อให้แก่รายย่อย ซึ่งล่าสุดได้ทดสอบระบบผ่านแอปเคพลัส โดยเริ่มที่กลุ่มลูกค้าเก่าของธนาคาร พบว่า กระบวนการตั้งแต่การขอสินเชื่อไปจนถึงการอนุมัติและโอนเงินให้ลูกค้าใช้เวลาเพียง 19 นาทีเท่านั้น ซึ่งหลังจากเปิดใช้งานเพียง 5 วัน สามารถปล่อยกู้ได้ถึง 200 ล้านบาท

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของวงการการเงินนั้น จะต้องเริ่มต้นจากค่านิยม เนื่องจากนายแบงก์ส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังมาว่า ก่อนจะทำอะไร จะต้องมีคำถามอย่างน้อย 3 ครั้งเพื่อป้องกันผิดพลาด แต่รูปแบบที่เปลี่ยนไป ทำให้ธนาคารจะต้องเปลี่ยนความคิดและวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้า

โดยวันนี้ธนาคารได้ผสมผสานความสามารถทางธุรกิจ และความสามารถทางด้านดิจิทัลเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมเข้าด้วยกัน ด้วยการจัดตั้ง บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KTBG) เพื่อเป็นประตูรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา

ต่อมาคือ การจัดการคน ทั้งด้านทักษะความสามารถในการทำงาน ซึ่งธนาคารได้เปลี่ยนวิธีบริหารจัดการใหม่ โดยคัดสรร talent (ผู้มีความสามารถพิเศษ) และมีเงื่อนไขการจ้างที่ต่างไปจากเดิม ทั้งคนไทยและต่างชาติเข้ามาร่วมงาน ซึ่งปัจจุบันธนาคารได้มีการจ้างวิศวกรด้านซอฟต์แวร์จากเวียดนามมาร่วมงาน

“หากประเทศไทยมีกรอบความคิดที่เปิดกว้างขึ้น จะเกิดคำถามขึ้นว่า เราพร้อมที่จะจ้างคนชาติอื่นเข้ามาร่วมทำงานด้วยหรือไม่ ทั้งชาวสิงคโปร์ ชาวอินเดีย ชาวตะวันตก และในฐานะองค์กรเอกชน ธนาคารสามารถที่จะจ้างคนต่างชาติเพื่อมาร่วมทำงานในองค์กรได้ ซึ่งเป็นตัวเปลี่ยนเกมของภาคธุรกิจได้ นอกจากนี้ ต้องทำให้คนทั้งองค์กรขับเคลื่อนไปสู่การทำงานรูปแบบใหม่ให้หมด ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่จะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคารที่ใหญ่กว่าเทคโนโลยีหลายเท่า”