IFRS17 บีบซิงเกิลพรีเมี่ยมดิ่ง ฉุดกำไร-เบี้ยวูบ/จับตาประกันดิ้นแก้เกม

“กรุงเทพประกันชีวิต” แนะเลื่อนใช้ IFRS17 หลังผ่อนให้เพิ่มอีก 1 ปี ชี้ธุรกิจปรับตัวไม่ทัน แถมบีบโปรดักต์ “ซิงเกิลพรีเมี่ยม” ตกขอบ เหตุกดดันบริษัทประกันทั้ง “ฉุดกำไรลง-เบี้ยประกันหายทั้งตลาด” หันขายยูนิตลิงก์เพิ่ม ลดผลกระทบมาตรฐานบัญชีใหม่

หม่อมหลวง (ม.ล.) จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมประกันชีวิตไทย กำลังหารือเรื่องอุตสาหกรรมประกันชีวิต ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS17 ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 66 เนื่องจากบริษัทประกันจะต้องปรับตัวทั้งเรื่องระบบ การเชื่อมโยงฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัยกับฝ่ายบัญชี เพื่อให้รองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ที่จะใช้ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีเพียงไม่กี่บริษัทที่นำร่องดำเนินการวางระบบไปบ้างแล้ว ขณะที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการกัน

“เราไปคุยกับ คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) มาแล้ว ซึ่งทาง คปภ.บอกว่าไม่ได้บังคับ แต่สภาวิชาชีพบัญชีเป็นผู้บังคับ ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกันว่าผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประกันชีวิตจะเป็นอย่างไร เพราะยังดูกันไม่ออกเหมือนกัน” ม.ล.จิรเศรษฐกล่าว

สำหรับประเด็นสำคัญที่กระทบต่อบริษัทประกัน คือ มาตรฐานบัญชี IFRS17 กำหนดให้บริษัทประกันจะต้องบันทึก “เบี้ยประกันชีวิต” เป็น insurance revenue (รายได้ หรือ top line) แทน เพื่อให้สัมพันธ์กับกำไร (bottom line) นอกจากนี้ ในส่วนของผลิตภัณฑ์ชำระเบี้ยครั้งเดียว (ซิงเกิลพรีเมี่ยม) ถูกกำหนดให้ตั้งสำรองสำหรับเบี้ยประเภทนี้ ซึ่งจะดึงกำไรให้ลดลง ทำให้ปัจจุบันอุตสาหกรรมประกันโดยรวม ปรับตัวชะลอขาย “ซิงเกิลพรีเมี่ยม” กัน และมีแนวโน้มที่จะเห็นการปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วของเบี้ยประกันชีวิตโดยรวม สะท้อนผ่านตัวเลขในไตรมาส 1/62 พบว่า การเติบโตของเบี้ยติดลบ ถือว่าลดลงต่อเนื่อง หากดูการเปลี่ยนแปลงพบว่า 5 ปีก่อนหน้านี้ เบี้ยประกันชีวิตเคยเติบโตได้สูงกว่า 10% แต่ในช่วง 4 ปีย้อนหลังนี้ การเติบโตของประกันชีวิตอยู่ที่ราว 4-5% เท่านั้น

“บริษัทไหนที่ขายซิงเกิลพรีเมี่ยมจะถูกกระทบและเบี้ยจะค่อย ๆ ลดลง จึงประเมินว่าสินค้าซิงเกิลพรีเมี่ยมจะค่อย ๆ หายไปจากตลาด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ทำให้สินค้าประเภทนี้ไม่ค่อยได้กำไร ในอนาคตก็จะเห็นบริษัทประกันหันมาขายยูนิตลิงก์ (ประกันควบการลงทุน) มากขึ้น เพราะยูนิตลิงก์ไม่ต้องตั้งสำรอง เวลาลงบันทึกตามมาตรฐานบัญชี IFRS17 ก็จะไม่กระทบต่อกำไร จะต่างจากซิงเกิลพรีเมี่ยม” ม.ล.จิรเศรษฐกล่าว

สำหรับแนวโน้มไตรมาส 2 นี้ คาดว่าจะเห็นตัวเลขในอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาดีขึ้น หลังจากเห็นการลดลงเป็นตัวเลขถึง 2 หลักในไตรมาสแรกที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาจะเป็นยูนิตลิงก์ เนื่องจากปีก่อนขายค่อนข้างดี แต่จะเห็นการชะลอตัวในปีนี้ แต่หากบริษัทประกันเปลี่ยนการขายยูนิตลิงก์แบบซิงเกิลพรีเมี่ยมมาเป็นการชำระเบี้ยรายงวดจะเป็นผลดีในระยะยาว

“ส่วนของบริษัทในไตรมาส 2 จะเห็นพันธมิตรใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยสร้างยอดขาย หลังจากธนาคารกรุงเทพมีพันธมิตรเพิ่ม เรามองทั้งธนาคาร โบรกเกอร์ประกันภัย และพาร์ตเนอร์ช่องทางออนไลน์ ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาทั้งแบงก์ใหญ่และแบงก์เล็ก แต่คาดว่าจะเห็นพันธมิตรโบรกเกอร์ประกันภัยก่อน” ม.ล.จิรเศรษฐกล่าว

นายสมชัย อาภรณ์ศิริพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต กล่าวว่า ยอดขายซิงเกิลพรีเมี่ยมจะค่อย ๆ หายไป เพราะมีผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทประกันชีวิตสูงมาก ฉะนั้นแนวทางการทำตลาดช่องทางขายประกันผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) คงจะลำบาก โดยภาพรวมไตรมาสแรกของตลาดที่ติดลบค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ลดขนาดยอดขายซิงเกิลพรีเมี่ยมลง จากเมื่อปีที่แล้วหลายบริษัทประกันโหมมาขายยูนิตลิงก์แบบซิงเกิลพรีเมี่ยม แต่เกิดปัญหาจากภาวะตลาดหุ้นตกกว่า 100 จุด ทำให้เริ่มออกอาการผ่านตัวเลขมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ลดลง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นลูกค้า อย่างไรก็ดี แนวโน้มการแข่งขันแบบไร้ทิศทาง คงจะน้อยลง แต่เป็นการสะท้อนภาพรวมธุรกิจจริง ๆ มากขึ้น

โดยในท้ายที่สุดแล้ว บริษัทประกันชีวิตจะต้องขายโปรดักต์แบบไม่การันตีผลตอบแทน เพราะด้วยเทรนด์ของดอกเบี้ย และโปรดักต์ที่ขายนอกเหนือจากประกันสะสมทรัพย์ (endowment) ก็คือ ประกันชีวิตตลอดชีพ (whole life) ถ้าดอกเบี้ยในระยะยาวลงเหมือนกับญี่ปุ่น ก็ยังเป็นอุปสรรคอยู่ เพราะขายแล้วผูกพันไปจนถึงอายุ 90 ปี หรือ 100 ปี ค่อนข้างลำบาก ฉะนั้นยูนิตลิงก์หรือยูนิเวอร์แซลไลฟ์ อาจเป็นช่องทางหนึ่งของบริษัท แต่สินค้ายูนิเวอร์แซลไลฟ์อาจจะเหมาะกว่า แม้ยูนิตลิงก์จะเป็นบวกขึ้นจากตัวลดหย่อนภาษีของ LTF หมดไป

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า ในระยะยาวหน้าตาพอร์ตโฟลิโอของบริษัทประกันชีวิตควรจะต้องมีสัดส่วนความคุ้มครอง (โปรเท็กชั่น) สัญญาเพิ่มเติมต่าง ๆ และโปรดักต์แบบไม่การันตีผลตอบแทน เพราะจะไม่ได้รับผลกระทบเรื่องดอกเบี้ย และสอดรับ IFRS17

โดยในส่วนของบริษัท ก็ได้มีปรับลดยอดขาย single endowment ลงไปก่อนหน้านี้แล้ว และมาเน้นขายสินค้าความคุ้มครองและสัญญาเพิ่มเติม ยูนิตลิงก์และประกันชีวิตเพื่อสินเชื่อ แม้ขนาดเบี้ยจะน้อยกว่าแต่สะท้อนภาพธุรกิจในระยะยาว ปัจจุบันสัดส่วนพอร์ตบริษัทเกือบ 70% มาจากยอดขายความคุ้มครองพ่วงสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม