นักวิชาการเตือนภาษีเหล้า-ไวน์-บุหรี่ใหม่ หวั่นไม่เท่าเทียม-เอื้อของถูก

รศ. ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวเรื่องการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้กลุ่มสุรา-ยาสูบที่จะมีการนำเสนอเข้าครม. ภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยเตือนถึงโครงสร้างการจัดเก็บที่ยกเว้นภาษีขามูลค่าเพื่อหนุนผู้ประกอบการในประเทศ หวั่นไทยโดนข้อหากีดกันทางการค้า ซึ่งกรณีของกลุ่มสินค้าไวน์ที่มีการนำเสนอตามสข่าว จะมีการปรับเกณฑ์การยกเว้นการเก็บภาษีตามฐานมูลค่าจากปัจจุบันที่ใช้เกณฑ์ราคาขายส่งช่วงสุดท้ายขวดละไม่เกิน 600 บาท มาเป็นเกณฑ์ราคาขายปลีกขวดละไม่เกิน 1,000 บาท นั้น ถือว่าไม่เป็นไปตามหลักความเป็นธรรม

รศ.ดร.อรรถกฤต กล่าวต่อว่า อัตราภาษีตามมูลค่าย่อมแปรผันตามราคาอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะใช้ราคาเป็นเกณฑ์ยกเว้นภาษีตามมูลค่าอีก น่าเสียดายที่การปฏิรูปในครั้งนี้ยังไม่เลิกระบบที่ซับซ้อนและบิดเบือนกลไกตลาดเช่นนี้

“การที่รัฐให้เหตุผลว่าการกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อหนุนผู้ผลิตไวน์ในประเทศที่มีอยู่ราว 6-7 ราย ถือเป็นนโยบายที่สุ่มเสี่ยงขัดความตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) เพราะกติกาการค้าระหว่างประเทศก็คือห้ามใช้มาตรการใดๆ ในการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศจากการแข่งขันของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ จึงอยากให้กรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลังพิจารณาในจุดนี้ให้ดี การสร้างระบบการจัดเก็บภาษีที่เอื้อให้กับผู้ผลิตในประเทศอาจถูกคู่ค้าต่างชาติตั้งคำถามในประเด็น trade discrimination หรือ การกีดกันทางการค้า” รศ.ดร.อรรถกฤต กล่าว

เขากล่าวต่อว่า ระบบภาษีสรรพสามิตที่ดีควรมีโครงสร้างที่เรียบง่าย ทันสมัยและยึดหลักปฏิบัติตามหลักสากล ตอนนี้เหลือสินค้ากลุ่มสุราและยาสูบที่ยังรอลุ้นอัตราภาษีใหม่อยู่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสุราหรือยาสูบก็ใช้หลักเดียวกัน คือเก็บภาษีตามผลต่อสุขภาพเป็นหลัก นั่นคือต้องวัดกันตามปริมาณไม่ใช่ราคา หากโครงสร้างภาษีใหม่เปิดช่องให้ของราคาถูกจ่ายภาษีถูกกว่าของราคาแพงแล้ว โดยเฉพาะหากมีการใช้ราคาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งขั้นอัตราภาษี สิ่งที่จะตามมาคือการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสุรา และยาสูบราคาถูกแน่นอน ซึ่งจะถูกมองว่าเป็นการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือเอื้อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม และจะทำให้การปฏิรูปครั้งนี้ไม่สง่างาม

สำหรับอุตสาหกรรมยาสูบ ก็มีผู้ผลิตในประเทศรายใหญ่ที่รัฐเป็นเจ้าของ หวังว่าภาครัฐคงพิจารณาอย่างรอบคอบในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่ทั้งสองขา คือ มูลค่าและปริมาณอย่างมีประสิทธิภาพและเสมอภาค เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยรัฐไม่ควรให้น้ำหนักเรื่องการปกป้องผู้ผลิตในประเทศในการจัดเก็บด้วยเหตุผลที่บอกไป แต่ควรจะมองไปที่วัตถุประสงค์เรื่องสุขภาพและควบคุมการบริโภคด้วยระบบภาษีที่ไม่สร้างความเลื่อมล้ำด้านราคามากกว่า