บตท.ชงคลังเพิ่มทุน ใส่ 2 พันล้านหนุนซื้อหนี้บ้าน

บตท.ชงคลังขอเพิ่มทุน 2 พันล้านบาท รองรับขยายธุรกรรมโต คาดวอลุ่มซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยทะลุหมื่นล้านบาทต่อปีหลังกฎหมายใหม่มีผล เปิดทางซื้อพอร์ตจากน็อนแบงก์ได้ จับมือ ธอส. ทำ “บิ๊กดาต้า” ข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัย หนุนออก MBS แบบใหม่ช่วยลดความเสี่ยงการติดตามหนี้

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บตท.ได้ยื่นขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาเพิ่มทุนให้จำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายธุรกรรมในระยะข้างหน้า อันเนื่องมาจากกฎหมาย บตท.ได้แก้ไขปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะทำให้ บตท. จะสามารถซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ได้ ทำให้การซื้อสินเชื่อ น่าจะเพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เข้ามากำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) ทั้งหมด ได้กำหนดเกณฑ์เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 8.5% ทำให้ บตท. ต้องดำรงเงินกองทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีกฎกระทรวงกำหนดไว้แค่ไม่ต่ำกว่า 5%

“อาจต้องศึกษาว่า ตลาดรองของต่างประเทศ ดำรงเงินกองทุนกันที่เท่าไหร่จึงจะเหมาะสม เท่าที่ทราบตลาดรองบางประเทศก็กำหนดที่ 3% บางประเทศก็กำหนดที่ 6% เราคงต้องไปศึกษาดูว่าทำไมเขาใช้อย่างนั้น ซึ่ง บตท. เราไม่ได้ทำธุรกิจโดยให้สินเชื่อเอง ไม่มีการให้สินเชื่อที่ไม่มีการค้ำประกัน ไม่มีการรับเงินฝากจากประชาชน ดังนั้นอาจจะต้องมีการต่อรองอีก” นางวสุกานต์กล่าว

นางวสุกานต์ กล่าวว่า สำหรับการระดมทุน (ฟันดิ้ง) ของ บตท. ปัจจุบันจะระดมจากตลาดทุน โดยออกพันธบัตรระยะสั้น และการออกตราสาร MBS (Mortgage Backed Securitized) ที่ใช้พอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยไปค้ำประกัน ซึ่งการออก MBS นี้ บตท. ได้รับการยกเว้นค่าใช้จ่ายในการออกตราสาร จึงทำให้ต้นทุนต่ำ และไม่เป็นภาระรัฐบาล

โดยในปี 2560 นี้ บตท. ก็มีแผนจะออก MBS ในช่วงปลายปีนี้ แต่วงเงินต้องขึ้นกับพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่จะซื้อเข้ามา ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาตราสารเดิมที่จะครบอายุด้วยว่ามีวงเงินเท่าใด

นางวสุกานต์กล่าวอีกว่า บตท. อยู่ระหว่างศึกษาการออกตราสาร MBS แบบใหม่ เรียกว่า “MBS Pass Through” ที่จะทำให้ บตท. ไม่ต้องบริหารจัดการพอร์ตเอง แต่จะมีผู้ดูแลพอร์ต ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงให้ บตท. ในการติดตามหนี้ ทั้งนี้ ตราสารลักษณะนี้ในเมืองไทยยังไม่เคยมีใครออก แต่ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะต้องมีข้อมูลพื้นฐาน อย่างน้อยต้องมีข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยย้อนหลังอย่างน้อย 10 ปี


“โดยจะต้องมีข้อมูลย้อนหลังอย่างน้อย 10 ปี เพื่อดูว่าพฤติกรรมผู้กู้เป็นอย่างไร เพื่อนำมาทำข้อมูลพื้นฐานเป็นตัวอ้างอิง ว่าสินเชื่อประเภทนี้ในไทยเป็นอย่างไร แล้วถ้าจะออกขายนักลงทุน จะต้องได้รับผลตอบแทนอย่างไร ซึ่งเราได้พูดคุยกับ ธอส. อยู่ในเรื่องข้อมูลตรงนี้ โดยจะให้ ธอส. ช่วยทำเรื่องนี้” กรรมการและผู้จัดการ บตท.กล่าว