ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าหลังเฟดรายงานเศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงขยายตัว

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/6) ที่ระดับ 31.41/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (5/6) ที่ระดับ 31.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นหลังเมื่อวานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สรุปภาวะเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หรือ “Beige Book” ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงมีการขยายตัวในเดือนเมษายนจนถึงช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ส่วนการจ้างงานยังคงมีการขยายตัวทั่วประเทศ อีกทั้งสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)1 ได้เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐในเดือนพฤษภาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 56.9 สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 55.4 ในเดือนเมษายน

อย่างไรก็ตาม ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 27,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี ต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 185,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ เมื่อวานมีการประชุมระหว่างตัวแทนของเม็กซิโกและสหรัฐ ซึ่งนำโดยนายไมค์เพ็นซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ โดยหลังการประชุมสิ้นสุดลง ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้แสดงความคิดเห็นว่ายังไม่มีความคืบหน้าในการในการเจรจา โดยจะมีึการเจรจาต่อในวันนี้อีก 1 วัน อย่างไรก็ตาม นายแอนเดรส มานูเอล โลเปซ ประธานาธิบดีเม็กซิโกได้เตรียมรายการสินค้าสหรัฐ ที่จะถูกเม็กซิโกเรียกเก็บภาษีเพื่อเป็นการตอบโต้ในกรณีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก ซึ่งนายทรัมป์จะเริ่มบังคับใช้ภาษีดังกล่าวในวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2562

ในส่วนของประเทศไทย เมื่อวานที่ประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งถูกเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนทีี่ 30 ด้วยคะแนนเสียง 500 เสียง นำห่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้คะแนนเสียงสนับสนุน 244 เสียง ขณะที่มีผู้งดออกเสียง 3 เสียง หลังจากใช้เวลาพิจารณาและอภิปรายกว่า 12 ชั่วโมง ในส่วนของตัวเลขทางเศรษฐกิจ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนพฤษภาคม 2562 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อยู่ที่ระดับ 77.7 ลดลงจากระดับ 79.2 ในเดือนเมษายน โดยดัชนึความเชื่อมั่นปรับลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สู่ระดับที่ต่ำสุดในรอบ 19 เดือน จากความเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.33-31.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/6) ที่ระดับ 1.1227/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (5/6) ที่ระดับ 1.1282/84 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงหลังเมื่อวาน (5/6) มีการรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนเมษายน ของสหภาพยุโรปซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 0.3 สวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.2 อย่างไรก็ตาม เมื่อวาน (5/6) ไอเอชเอส มาร์กิต ได้รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซนประจำเดือนพฤษภาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52.9 สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เล็กน้อยที่ 52.5 นอกจากนี้ระหว่างวัน มีรายงานยอดสั่งซื้อภาคโรงงานประจำเดือนเมษายน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเปรียบเทียบรายเดือน สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะคงที่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง  1.1219-1.1244 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1234/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/6) ที่ระดับ 108.35/36 เยน/ดอลลาร์/สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (5/6) ที่ระดับ 108.27/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยน
อ่อนค่าลงสวนทางกับการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.06-108.47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.18/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจ ในสัปดาห์นี้ได้แก่ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) (6/6) ดุลการค้าสหรัฐเมษายน (6/6) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (6/6) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐเดือนพฤษภาคม (7/6) ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนี (7/6) และอัตราว่างงานสหรัฐเดือนพฤษภาคม (7/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.30/-2.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.90/-3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ