เกมท้าทาย โบรกเกอร์ไทย เปิดเสรีต่างชาติต่อท่อเทรดตรง ตลท.

จากที่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 ได้ระบุถึงการให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่มิใช่สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สามารถเข้ามาเชื่อมต่อระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัยพ์ฯได้โดยตรง (direct access) นั้น เท่ากับว่า ต่อไป บล. ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก จะเข้ามาเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอเรจ) ได้โดยไม่ต้องส่งออร์เดอร์ผ่าน บล.ที่เป็นสมาชิก (โบรกเกอร์) เช่นปัจุจบัน

ทั้งนี้ ล่าสุด ตลท.มีโบรกเกอร์จำนวน 39 แห่ง ซึ่งเชื่อมต่อระบบกับ ตลท. ส่วน บล.ต่างชาติส่วนใหญ่จะส่งออร์เดอร์ผ่านโบรกเกอร์ไทย

ขณะที่ นายศักรินทร์ ร่วมรังษี ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงแนวทางทำ direct access ว่า เป็นการปลดล็อกให้ บล.ที่ไม่ใช่โบรกเกอร์ สามารถเข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ ส่วนกระบวนการเปิด direct access จะขึ้นอยู่กับรูปแบบที่ ตลท.กำหนด ซึ่งไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก.ล.ต.เพิ่มเติม และ ก.ล.ต.ไม่จำเป็นต้องออกเกณฑ์กำกับดูแลเพิ่มเช่นกัน เนื่องจากคณะกรรมการตลท.มีตัวแทนของสมาชิกที่เกี่ยวข้องอยู่และมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) จากสมาชิก ส่วนกรณีเปิด direct access เชื่อว่า จะต้องใช้เวลาดำเนินการ จึงไม่ได้กระทบโบรกเกอร์ทันทีทันใด ขณะเดียวกัน ใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯฉบับใหม่ มีการเปิดช่องให้ บล. สามารถออกไปซื้อขายหลักทรัพย์นอกกระดานได้ ซึ่งส่วนนี้น่าจะเป็นผลดีกับโบรกเกอร์ด้วย

ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ – วีรพัฒน์ เพชรคุปต์

ทั้งนี้ แม้ว่าขณะนี้ direct access จะยังไม่เกิดขึ้น แต่หากมาดูสถานการณ์ธุรกิจโบรกเกอร์ในเวลานี้ พบว่ายังมีการแข่งขันเรื่องตัดค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (ค่าคอมมิสชั่น) ผ่านเจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เก็ตติ้ง) กันรุนแรงมาตลอด โดยสงครามแย่งชิงลูกค้ารายใหญ่หรือลูกค้าต่างชาติ เพื่อหวังทำวอลุ่ม (มูลค่าการซื้อขาย) ให้เข้ามาปริมาณมาก ๆ จะได้คุ้มทุน แต่กลับเป็นว่าบางโบรกเกอร์ยอมแบกต้นทุนไว้ เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) จนทำให้ทุกวันนี้รายได้ค่าคอมฯของโบรกเกอร์หดหายไปกันทีเดียว

ขณะเดียวกัน ระบบการซื้อขายผ่านออนไลน์ (เทรดหุ้นออนไลน์) ซึ่งคิดค่าคอมฯที่ถูกกว่า ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย จนวอลุ่มจากเทรดออนไลน์เพิ่มมาเป็นครึ่งหนึ่งของวอลุ่มรวม

สถานการณ์ของโบรกเกอร์เวลานี้ สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจเปลี่ยนไปตามโลกดิจิทัลที่มีเครื่องมือเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาเสริมเขี้ยว

การให้บริการอย่างรวดเร็ว รวมถึงติดอาวุธข้อมูลการลงทุนให้เข้าถึงลูกค้าเทรดหุ้นได้ง่าย และหาก ตลท.จะเปิดให้ทำ direct access อีกก็น่าจะเห็นโบรกเกอร์ต้องดิ้นปรับตัวอีกระลอก

โดยมุมมองของ “ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ” นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า หากตลาดหลักทรัพย์ฯจะเปิดให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกเข้ามาเชื่อมต่อ ทาง ตลท.ก็จะต้องมีกฎเกณฑ์ออกมา และต้องมีการเข้ามาตรวจสอบและควบคุมดูแลคนที่ไม่ใช่สมาชิกด้วย

“เช่น หากมีผู้ซื้อขายผ่านโบรกฯที่ไม่ใช่สมาชิกเข้ามาปั่นหุ้นในตลาดหุ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯจะสามารถจัดการอะไรได้หรือไม่ หรือคนเหล่านี้จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.ไทยหรือไม่ ดังนั้น จึงมีอีกหลายปัจจัยที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะต้องคำนึงถึงก่อนที่จะเปิดให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกเข้ามาเชื่อมต่อได้จริง”

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งของ direct access คือ การเปิดช่องให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยสามารถไปเชื่อมต่อระบบกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งจะเปิดให้โบรกเกอร์ในไทยสามารถออกไปซื้อขายหุ้นต่างประเทศได้ด้วย

“ดังนั้น direct access อาจไม่ได้ส่งผลกระทบทางลบกับธุรกิจโบรกเกอร์ทั้งหมด เนื่องจากยังมีโอกาสให้โบรกฯไทยมีวอลุ่มเพิ่มขึ้นจากการออกไปเทรดหุ้นต่างประเทศได้” นายกสมาคม บล.กล่าว

ด้าน “วีรพัฒน์ เพชรคุปต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บล.คันทรี่ กรุ๊ป มองว่า ในระยะสั้นนี้ โอกาสที่ บล.ต่างชาติจะเข้ามาซื้อขายโดยตรงกับตลาดหลักทรัพย์ฯอาจเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากในปัจจุบัน บล.ต่างชาติยังจำเป็นต้องพึ่งพาโบรกฯไทยดำเนินการเกี่ยวกับงานหลังบ้าน อาทิ เรื่องระบบการชำระเงินหลังทำออร์เดอร์ เป็นต้น แต่หาก บล.ต่างชาติจะดำเนินการเอง ก็ต้องมีการเตรียมตัวทำระบบต่าง ๆ อีก ดังนั้น จึงเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบโบรกฯไทยทันที

“แต่มีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบในระยะยาว ซึ่งโบรกเกอร์ไทยที่จะได้รับผลกระทบก็จะเป็นรายที่มีลูกค้าต่างชาติ หรือ บล.ต่างชาติที่ส่งออร์เดอร์เป็นหลักจะกระทบรายได้”

ซีอีโอกล่าวว่า แต่อีกด้านหนึ่งที่เป็นสัญญาณที่ดี คือ การเปิดช่องให้โบรกเกอร์ไทยสามารถออกไปซื้อขายหุ้นนอกได้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการทำธุรกิจของโบรกเกอร์ไทยมากขึ้น เพราะปัจจุบัน บล.คันทรี่ กรุ๊ปมีการออกไปซื้อขายหุ้นต่างประเทศผ่านพาร์ตเนอร์ที่เป็นโบรกเกอร์ในประเทศนั้น ๆ แต่วิธีการซื้อขายยังค่อนข้างซับซ้อนและไม่สะดวกนัก นอกจากนี้ลูกค้าเราก็มีความต้องการลงทุนหุ้นต่างชาติสูง หากกฎหมายสามารถเอื้อให้ออกไปลงทุนได้เสรี ก็คาดหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นผลดีต่อธุรกิจเช่นกัน

“ปัจจุบันโมเดลการทำธุรกิจหลักทรัพย์ที่หวังรายได้จากค่าคอมมิสชั่นอย่างเดียว คงทำได้ยากแล้ว โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ภาพการแข่งขันลดค่าคอมมิสชั่นทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้นบริษัทจึงมีการเสริมธุรกิจอื่นเข้ามาเสริม เช่น การทำดีลหุ้นไอพีโอ ดีลควบรวมกิจการ การทำธุรกิจรับประกันการจำหน่ายตราสารหนี้ ที่บริษัทให้น้ำหนักค่อนข้างมาก นอกจากนี้ จะต้องขายผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ขายบริการบริหารความมั่งคั่ง ขายกองทุน ซึ่งหารายได้นอกเหนือจากการเทรดหุ้น” ซีอีโอคันทรี่ กรุ๊ปกล่าว

แม้ direct access อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ และยังต้องติดตามดูตลท. จะคลอดรูปแบบไหนออกมา การเชื่อมต่อท่อระบบการส่งคำสั่งซื้อขายของ บล.ต่างชาติจะเทียบเท่ากับโบรกเกอร์หรือไม่ เป็นฉากที่ต้องติดตามต่อไป

แม้ที่ผ่านมา โบรกเกอร์ในไทยมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องและไล่ให้ทันดิจิทัล แต่ในระยะข้างหน้าเห็นชัดว่าคลื่นแห่งการเปิดเสรีหลักทรัพย์ กำลังจะมาถึง การตั้งฐานรับให้แน่นและมั่นคง เป็นการวัดฝีมือผู้บริหารโบรกเกอร์ในไทยไม่น้อยทีเดียว