รัฐแจงปรับกรอบวินัยการคลัง ก่อหนี้ผูกพัน 8% เอื้อลงทุนเมกะโปรเจ็กต์

“คลัง-สำนักงบประมาณ” ประสานเสียงขยายกรอบก่อหนี้ผูกพันเพิ่มเป็น 8% จากเดิม 5% ไม่มีปัญหา “วินัยการเงินการคลัง-ไม่สร้างภาระรัฐบาลใหม่” วงในเผยเป็นปัญหาเทคนิค-โครงการไฮสปีด 3 สนามบินดันวงเงินก่อหนี้ทะลุกรอบ เหตุมูลค่าลงทุนต้องจ่ายจริงเพิ่มจากมูลค่าตามทีโออาร์เกือบ 5 หมื่นล้านบาท สคร.แจงรถไฟฟ้าสายสีส้ม 2.35 แสนล้านบาทจ่อเข้า ครม.เร็ว ๆ นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ประชุมมีมติเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยอนุมัติให้มีการเพิ่มสัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันที่นอกจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากเดิมไม่เกิน 5% ของงบประมาณ (1.5 แสนล้านบาท) ที่กำหนดไว้เมื่อปี 2561 เป็นไม่เกิน 8% (2.4 แสนล้านบาท) ซึ่งประเด็นสำคัญ มาจากการคิดมูลค่าลงทุนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่เดิมตอนวางกรอบ คิดที่มูลค่าปัจจุบันราว 1 แสนล้านบาทในทีโออาร์ แต่ปรากฏว่ามูลค่าจริงที่ต้องจ่ายเกือบ 1.5 แสนล้านบาท

“เป็นปัญหาทางเทคนิค เพราะเมื่อคิดวงเงินที่ต้องจ่ายจริง ยังไงก็ต้องเพิ่ม เพราะไม่ได้จ่ายในปัจจุบัน แต่จ่ายในอนาคตหลังมีการเดินรถแล้ว ดังนั้น จึงทำให้การก่อหนี้ผูกพันทะลุกรอบที่วางไว้เดิม ซึ่งกรอบนี้มีไว้เพื่อดูไม่ให้ก่อหนี้จนเป็นภาระงบประมาณในอนาคต หากให้ก่อหนี้ผูกพันเพิ่มมาก ๆ จะเป็นการไปล็อกไว้ รัฐบาลใหม่มาก็จะทำอะไรไม่ได้ แต่กรณีนี้คงไม่น่าห่วง เพราะรัฐบาลขั้วเดิมมาบริหารต่อ น่าจะบริหารจัดการได้ ซึ่งทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็พิจารณาแล้ว ให้ความเห็นว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังแต่อย่างใด” แหล่งข่าวกล่าว

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า การขยายกรอบก่อหนี้ผูกพันดังกล่าว เนื่องจากมีการพิจารณากันแล้วว่า จะต้องมีการลงทุนเพิ่ม จึงต้องขยายกรอบเพื่อรองรับ เนื่องจากกรอบนี้จะรองรับสำหรับโครงการที่มีการของบประมาณระหว่างปี จึงต้องตีกรอบไว้ไม่ให้มีการขอเพิ่มเติมจนเลยเถิด แต่ไม่ได้มีผลกระทบด้านวินัยการเงินการคลัง หรือไปสร้างผลกระทบให้รัฐบาลต่อไปแต่อย่างใด

“ได้มีการพิจารณากันแล้วว่า การขยายกรอบก่อหนี้ผูกพันดังกล่าว อยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่ได้มีผลกระทบ หรือเป็นภาระในอนาคตอะไรมาก” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า เนื่องจากโครงการลงทุนลักษณะที่ให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ (PPP) จะต้องมีการก่อหนี้ผูกพันไปหลายปี แต่เวลาคิดสัดส่วนหนี้ต่องบประมาณจะนำมาคิดไว้ในปีงบประมาณแรกที่มีการก่อหนี้ทั้งหมด ทำให้เกินกรอบ ซึ่งหากคิดแบบเฉลี่ยในแต่ละปีก็จะไม่เกินกรอบ

“อย่างเช่น ก่อหนี้ไปเพื่อใช้ 10 ปี แต่เวลาคิดสัดส่วนหนี้ต่องบประมาณ กลับคิดรวมทั้งหมดในปีแรกที่ก่อหนี้ ทำให้ต้องขยายกรอบ เพื่อให้มีการกู้หนี้ได้สำหรับโครงการที่มีการอนุมัติไปแล้ว เพราะพอมีหลายโครงการรวม ๆ กัน กลายเป็นว่าสัดส่วนหนี้ต่องบประมาณสูงกว่ากรอบที่ตั้งไว้เดิม ทำให้เดินหน้าไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินอย่างเดียว แต่ยังรวมโครงการลงทุน PPP อื่น ๆ ด้วย เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้มีเพียงประเด็นเดียว ไม่ได้มีปัญหาวินัยการเงินการคลัง” นายประภาศกล่าว

นายประภาศกล่าวอีกว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) คงต้องรอให้ได้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ก่อน ซึ่งขณะนี้มีโครงการที่รอเสนออยู่ คือ โครงการศูนย์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ของกรมการแพทย์ วงเงินลงทุนรวม 8,220 ล้านบาท ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างในย่านจตุจักร รวมถึงการเสนอออกกฎหมายลูกต่าง ๆ เช่น การออกประกาศตามมาตรา 7 วรรค 2 ของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในส่วนกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นที่ยังเหลืออีกหลายกิจการที่ต้องสร้างความชัดเจน เป็นต้น

“ตอนนี้มีโครงการที่รอเข้าบอร์ด PPP อยู่ คือ ศูนย์การแพทย์ ซึ่งเป็นโครงการลงทุนด้านสังคมโครงการแรก” นายประภาศกล่าว


ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มูลค่าเงินลงทุน 235,320 ล้านบาท ที่ผ่านบอร์ด PPP ไปแล้ว ขณะนี้ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) อยู่ระหว่างถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น่าจะเข้า ครม.ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งหลังจากนั้นก็จะเปิดประมูลได้ภายในปี 2562 นี้