ดอลลาร์เคลื่อนไหวแคบ หลังตัวเลขการจ้างงานแย่กว่าคาด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/9) ที่ 33.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 33.17/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1/9) กระทรวงแรงงานสหรัฐ รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 156,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่ง ในขณะที่อัตราการว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.4% แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 4.3% ส่วนอัตราค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมงของแรงงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% แต่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 0.3% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% นอกจากนี้สถาบันไอเอสเอ็ม ยังมีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นระดับ 58.5 ในเดือน ส.ค. จากระดับ 56.3 ในเดือน ก.ค. ในขณะที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 96.8 ในเดือน ส.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 97.4 หลังจากอยู่ที่ระดับ 93.4 ในเดือน ก.ย. นอกจากนี้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดงบดุลวงเงิน 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย. โดยจะลดการถือครองพันธบัตรของเฟด ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.15-33.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.16/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (4/9) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1877/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 1.1914/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1/9) สถาบีนมาร์กิตได้เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของยูโรโซน ประจำเดือน ส.ค. ออกมาทรงตัวที่ระดับ 57.4 เท่ากับเดือนก่อนหน้าและเท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณืไว้ นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดีนี้ (7/9) ในขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB จะไม่ส่งสัญญาณมากนักเกี่ยวกับโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในอนาคต เนื่องจาก ECB อาจจะรอจนถึงเดือน ต.ค. ก่อนที่จะประกาศเรื่องการเปลี่ยนแปลงมาตรการ QE นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังคงคาดการณ์ด้วยว่า นายดรากี อาจจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของสกุลเงินยูโรในการประชุมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1852-1.1922 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1912/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (4/9) เปิดตลาดที่ระดับ 109.14/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 110.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1/9) ได้มีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 43.3 จากระดับ 43.8 ในเดือนก่อนหน้า ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 43.5 นอกจากนี้ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากข่าวที่ว่า เกาหลีเหนือได้ทดสอบระเบิดไฮโดรเจนที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงเมื่อวานนี้ (3/9) ซึ่งถือเป็นการทดลองนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.29-109.92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.53/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงต้นสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของอังกฤษ (4/9) ดัชนีราคาผู้ผลิตของยูโรโซน (4/9) ดัชนีราคาผู้บริโภคของสวิตเซอร์แลนด์ (5/9) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของยูโรโซน (5/9) ยอดสั่งซื้อสินค้าโรงงานของสหรัฐ (5/9) ตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 ของออสเตรเลีย (5/9) ตัวเลขดุลการค้าของสหรัฐ (6/9) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐ (6/9) ตัวเลขยอดค้าปลีกของออสเตรเลีย (6/9) ตัวเลขดุลการค้าของออสเตรเลีย (6/9)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาค้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.0/-0.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.1/-0.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ