ธปท.กดปุ่มแบงก์ลุย e-KYC เริ่ม ก.ค.นี้-เปิดบัญชีออนไลน์

ธปท.ดีเดย์ใช้ e-KYC กลางเดือน ก.ค. 62 หนุนประชาชนเข้าถึงบริการแบงก์ง่ายขึ้น คาดเห็นยอดเปิดบัญชีใหม่พุ่งแน่ พร้อมต่อยอดให้บริการสินเชื่อและผลิตภัณฑ์อื่น ลั่นระบบ NDID ยืนยันและพิสูจน์ตัวตนเกิดแน่นอนสิ้นปีนี้ เปิดยอดผู้ใช้พร้อมเพย์ 48 ล้านบัญชี คนแห่ทำธุรกรรมออนไลน์สูง 100 ครั้ง/คน/ปี แรงส่งยกเลิกค่าฟี ส่วนคิวอาร์โค้ดมีร้านค้าลงทะเบียนใช้พุ่งเฉียด 5 ล้านบัญชี

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของระบบการยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ว่า จะสามารถเริ่มให้บริการได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยจะเปิดตัวใช้เป็นทางการในงานสัมมนา Bangkok FinTech Fair 2019 ของ ธปท. ซึ่งจะทำให้ต่อไปประชาชนสามารถเปิดบัญชีได้โดยไม่ต้องไปสาขา สามารถขอสินเชื่อ และทำธุรกรรมอื่น ๆ ได้สะดวกขึ้น รวมถึงการให้บริการผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งจะขึ้นกับการพัฒนาของแต่ละธนาคาร

“สถาบันการเงินได้ผ่านการทดสอบระบบแล้ว ส่วนใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์และมีน็อนแบงก์บ้างรวม 12 แห่ง ซึ่งก็คาดว่าการเปิดใช้ e-KYC จะช่วยให้ทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกและง่ายขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ในเบื้องต้นประเมินว่า เมื่อนำ e-KYC มาใช้เปิดบัญชีจะทำให้ยอดการเปิดบัญชีใหม่ของแบงก์ใหญ่จะเพิ่มขึ้นหลายหมื่นบัญชีในแต่ละเดือน”

ส่วนความคืบหน้าการให้บริการการ “พิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล” (NDID) ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบระบบในสนามทดสอบ (regulatory sandbox) ของ ธปท. ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ปลายปีนี้ โดยระบบ NDID จะเริ่มใช้กับแบงก์ เนื่องจากมีความพร้อมเรื่องข้อมูลและเทคโนโลยี หลังจากนั้น จะขยายไปส่วนอื่น ๆ

ทั้งภาครัฐและเอกชน เนื่องจากว่าระบบดังกล่าวเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถใช้ร่วมกันได้ ซึ่งหากภาครัฐเข้ามาร่วมด้วยก็จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน อีกทั้งยังเป็นการลดขั้นตอนการทำงาน ระยะเวลา และเอกสารลงมาก

“ระบบ NDID ใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งระบบนี้จะเกี่ยวข้องกับ e-KYC เพราะข้อมูลที่จะแลกเปลี่ยนกัน หรือเชื่อมโยงกันบน NDID ต้องได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยสูง จึงจะให้แลกเปลี่ยนกันได้ และหากใครมาตรฐานไม่ได้ ก็ไม่สามารถเข้าสู่ระบบ NDID ได้”

สำหรับระบบ NDID นั้นเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานกับหน่วยงาน ซึ่งในการจะส่งข้อมูลให้กันนั้นจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลส่วนบุคคล โดยส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ตามกฎหมายของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เช่น ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ อาชีพ ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ ปปง.ได้กำหนดไว้ในการทำธุรกรรมทางการเงิน

“จริง ๆ แล้ว NDID เป็นถนนซึ่งไม่ได้จับข้อมูลหรือเก็บข้อมูลไว้ในระบบ เพราะข้อมูลยังอยู่กับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของข้อมูลนั้น ๆ แต่ ธปท.มาทำถนนเชื่อมให้ 2 หน่วยงานนี้ทำงานร่วมกันได้ ดังนั้น เวลาส่งข้อมูลทั้ง 2 หน่วยงานก็จะส่งตรงกัน และ NDID ก็จะเก็บสถิติและบันทึกว่ามีใช้เข้ามาใช้ได้ ดังนั้น เวลามีประเด็นหรือเกิดปัญหาขึ้นก็ทำให้รู้ว่าใครขอจากใครเวลาไหน”

สำหรับยอดผู้ใช้บริการพร้อมเพย์ในปัจจุบัน นางสาวสิริธิดากล่าวว่า มีจำนวนผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้ว 48ล้านบัญชีทั้งจากหมายเลขบัตรประชาชนและหมายเลขโทรศัพท์ ส่วนผู้ลงทะเบียน (ร้านค้า) รับชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดมีจำนวน 4.9 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่ผ่านมาที่อยู่ 3.9 ล้านบัญชี ส่วนการทำธุรกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้นทั้งโมบายแบงกิ้งและอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ทำให้ยอดทำธุรกรรมทางออนไลน์เพิ่มขึ้นมากหลังมีการยกเลิกค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) จากเดิมยอดทำธุรกรรม 50-60 ครั้งต่อคนต่อปี เป็น 100 ครั้ง/คน/ปี