คปภ.คาดเบี้ยประกันปี’62 หดตัวทั้งระบบเหลือ 8.3 แสนล้าน จ่อปรับประมาณการใหม่หลังจัดตั้งรัฐบาล

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ต้นปี 2562 สถานการณ์บ้านเมืองของไทยดูมีความไม่แน่นอนสูงจากการเลือกตั้ง และความกังวลทิศทางของรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะมีเสถียรภาพหรือไม่ รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังดูไม่ดี ทำให้บรรยากาศการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศชะลอการลงทุน แต่ทั้งนี้มองว่าครึ่งปีหลังหากมองในแง่บวกว่าทิศทางการเมืองมีความมั่นคง และรัฐบาลเริ่มมีโปรเจ็กต์การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ จะส่งผลให้อุตสาหกรรมการประกันวินาศภัยจะโตขึ้นแน่นอน เพราะจะสามารถเข้าไปรับประกันภัยความเสี่ยงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ได้มากขึ้น นอกจากนี้เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะหนุนโครงการใหญ่ๆ เกี่ยวกับประกันภัยที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่น ประกันพืชผลทางการเกษตร ที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอาจจะส่งเสริมการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลเพิ่มเข้าไป(Add-on) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรผู้มีรายได้น้อย) ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมเติบโตเพิ่มขึ้น

ส่วนอุตสาหกรรมการประกันชีวิตคงจะเริ่มเห็นแล้วว่าได้รับผลกระทบจากอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นโปรดักต์ที่ขายไม่ได้กำไร ภาคธุรกิจหรือบริษัทประกันก็จะต้องเริ่มปรับตัวและลดค่าใช้จ่ายบางเรื่อง อาทิ ค่าคอมมิชชั่นคนกลางประกันภัยที่จะต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง มันมีช่องทางอื่นไหมในบางเรื่อง โปรดักต์ประกันชีวิตถ้าออกแบบง่ายๆ บางบริษัทไม่จำเป็นต้องใช้คนกลางประกันภัยเลยก็ได้ ซึ่งบริษัทประกันเองก็จะไม่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่น แต่ถ้าบริษัทประกันภัยขายโปรดักต์ที่มีความซับซ้อนมากๆ คนจนก็ซื้อไม่ได้ บริษัทประกันเองก็จะต้องมีคนกลางประกันภัย ซึ่งขณะนี้จากการติดตามในต่างประเทศพบว่าคอนเซ็ปต์การประกันภัยคือ “simple easy to understand” ไม่ใช่ซับซ้อน ซึ่งจะสามารถที่จะขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงไป แต่จะทำได้บริษัทประกันจะต้องมีฐานข้อมูล ซึ่งขณะนี้ฐานข้อมูลอาจจะยังไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่าขณะนี้หลายบริษัทประกันของไทยมีการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีบ้างแล้วเพราะต้องปรับตัว ไม่สามารถที่จะไปเจาะตลาดกลุ่มบน (ผู้มีรายได้สูง) ไปได้ตลอด ในเมื่อผู้มีรายได้สูงมีกำลังซื้อสูงแต่มีอยู่ไม่มากเมื่อเทียบกับผู้มีรายได้ปานกลางและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งทาง คปภ.จะต้องพยายามส่งเสริมเพื่อให้จำนวนการถือครองกรมธรรม์ที่ขยับขึ้นมาแล้วอยู่ที่ 40% เมื่อเทียบจำนวนประชากร ให้สามารถเพิ่มสัดส่วนผู้ที่มีรายได้น้อยเข้ามามากขึ้น จากปัจจุบันที่สัดส่วนหลักๆ มาจากการถือครองกรมธรรม์ของผู้มีรายได้สูง ฉะนั้นคาดหวังว่าธุรกิจประกันภัยในช่วงที่เหลือน่าจะมีทิศทางฟื้นตัวที่ดีขึ้นได้

นายอรรถพล พิบูลธนพัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการสายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ในปี 2562 คปภ.ประมาณการเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งระบจะมีเบี้ยประกันที่ 8.3 แสนล้านบาท หดตัวลงประมาณ 2-3% จากปีก่อนที่มีเบี้ยประกัน 8.6 แสนล้านบาท โดยในช่วงไตรมาส 1/62 ที่ผ่านมาเบี้ยประกันมีการปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจ โดยจะเห็นเบี้ยประกันภัยรวมอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท ลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับ 1.47 แสนล้านบาท หดตัว 7% แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ สัญญาหลักมีเบี้ยรับประกันที่ 1.2 แสนล้านบาท ลดลง 10% (YoY) แต่อย่างไรก็ดีในส่วนสัญญาเพิ่มเติมมีเบี้ยประกันที่ 2.7 หมื่นล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 11% (YoY) โดยมาจากเบี้ยประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล 3,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% และประกันสุขภาพอีก 20,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% ซึ่งจะเห็นได้ว่าประชาชนมีการตื่นตัวในเรื่องการซื้อประกันสุขภาพมากขึ้น

ส่วนธรุกิจประกันวินาศภัยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% มาอยู่ที่ 5.9 หมื่นล้านบาท โดยแยกประเภทธุรกิจประกันอัคคีภัยมีเบี้ยประกันที่ 2.3 พันล้านบาท ลดลง 4.6% ทวิตประกันขนส่งทางทะเลมีเบี้ยประกันที่ 1.4 พันล้านบาท ลดลง 2% แต่สำหรับธุรกิจประกันภัยรถยนต์มีเบี้ยประกันที่ 3.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 5.6% ซึ่งมาจากประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ 4.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% และประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ 3.1 หมื่นล้านบาท เติบโต 6% และสำหรับธุรกิจประกันภัยเบ็ดเตล็ดมีเบี้ยประกันที่ 1.9 หมื่นล้านบาท เติบโต 2.8% มาจากเบี้ยประกันอุบัติเหตุ 7.4 พันล้านบาท เติบโต 6.8% และเบี้ยประกันสุขภาพ 2.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3%

“ไตรมาสแรกเบี้ยประกันสุขภาพทั้งระบบอยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท เติบโต 8.7% (YoY) มาจากยอดขายธุรกิจประกันชีวิตที่ 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% และจากยอดขายธุรกิจประกันวินาศภัยที่ 3 พันล้านบาท 3% โดยจำนวนเบี้ยประกันสุขภาพทั้งระบบ 2.3 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับสัดส่วนเบี้ยรวมทั้งตลาดประมาณ 11.5% ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราการเอาประกันสุขภาพในต่างประเทศตัวเลขนี้สามารถเติบโตได้อีกเป็น 10 เท่า เพราะฉะนั้นจากนโยบายของเลขาธิการ คปภ. ในการร่วมสนับสนุนกับภาคเอกชนในการพัฒนาโปรดักต์ใหมๆ เพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้ภาคเอกชน มีการขยายตลาดไปสู่เซกเม้นท์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำธุรกิจ หรือเป็นเซกเม้นท์ตลาด Niche Market โดยเฉพาะตลาดผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะเป็นตลาดใหม่ที่จะเพิ่มช่องทางรายได้เพิ่มยิ่งขึ้น” นายอรรถพลกล่าว

โดยตัวเลขเหล่านี้ทาง คปภ.ประมาณการด้วยการใช้ข้อมูลในช่วงปลายปีและในช่วงต้นปี 62 ก่อนจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งช่วงนั้นมีภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเกิดจากปัจจัยภ่ยนอกและในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการค้า การส่งออก และปัจจัยภายในเรื่องของการชะลอการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งหลายอย่างค่อนข้างจะมีความผันผวน จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนประมาณการอีกครั้งหลังจากที่รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารงาน ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากที่ผ่านมาดัชนีในตลาดหุ้นไทยได้เริ่มปรับสูงขึ้น จากความต่อเนื่องด้านนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลก็จะมีความชัดเจน ทั้งในส่วนของการใช้จ่ายและกระจายรายได้ การลดภาระหนี้สินของประชากร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้ธุรกิจประกันภัยมีการปรับตัว


ทั้งนี้ ณ ไตรมาส 1/6 อัตราผู้ถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อประชากรเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่สัดส่วน 39% จากเดิมที่ 35% นั่นหมายความว่าประชาชนคนไทยประมาณ 66 ล้านคนได้รับความคุ้มครองจากสัญญาประกันชีวิตประมาณเกือบ 40% ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากผลงานของ คปภ.ส่วนหนึ่งและบริษัทประกันชีวิตที่ช่วยกันในการรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนมีการเอาประกันภัยเพิ่มขึ้น โดยมีเบี้ยประกันต่อประชากรอยู่ที่ 12,809 บาท ซึ่งยังมีโอกาสขยายตัวได้อีก