“ไอแบงก์” เบรกหาพันธมิตร หนี้เสียพุ่ง-บีไอเอสติดลบ

ในโอกาสครบรอบเปิดดำเนินงาน 16 ปี ก้าวสู่ปีที่ 17 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ เปิดแถลงข่าวอีกครั้งเมื่อ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจาก “วุฒิชัย สุระรัตน์ชัย” เข้ามานั่งเก้าอี้กรรมการและผู้จัดการคนใหม่ ได้เกือบ 9 เดือน ซึ่งงานนี้ถือโอกาสเปิดตัว “ระเฑียร ศรีมงคล” ประธานกรรมการธนาคารคนใหม่ด้วย

โดย “ระเฑียร” กล่าวถึงผลดำเนินงานของไอแบงก์ ในไตรมาสแรกปี 2562 ว่า “ไม่อยากให้คาดหวังอะไรมาก เพราะองค์กรต้องใช้เวลาในการปรับตัว” พร้อมกล่าวถึงนโยบายที่มอบให้ฝ่ายบริหารไปทำก็คือ ให้มุ่งเน้นขยายฐานลูกค้ามุสลิม เพราะชาวมุสลิมในไทยมีราว 5-10% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งมีการทำธุรกิจอยู่ค่อนข้างมาก ไอแบงก์จึงยังมีโอกาส แต่ต้องฝึกพนักงานให้มีใจที่จะทุ่มเท

ขณะที่ “วุฒิชัย” กล่าวว่า ตอนปี 2561 แบงก์มีผลดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีกำไรสุทธิ 531 ล้านบาท สินเชื่อเติบโต 6,000 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 80,590 ล้านบาท ส่วนหนี้ด้อยคุณภาพ (NPF) ก็ลดลงเหลือราว 9,000 ล้านบาท หรือราว 17% จากที่เหลืออยู่กว่า 1 หมื่นล้านบาท หลังโอน NPF ที่ไม่ใช่ลูกค้ามุสลิมก้อนใหญ่ไปให้ บริษัท บริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IAM) แล้ว ส่งผลให้ในเดือน ม.ค. 2562 คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) อนุมัติให้ออกจากแผนฟื้นฟู

ล่าสุด ผลดำเนินงานไตรมาสแรกปี 2562 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 170 ล้านบาท จากเป้าหมายกำไรสุทธิทั้งปีที่ 1,100 ล้านบาท โดยยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น 2,517.44 ล้านบาท หรือเติบโต 5.02% โดยสินเชื่อทั้งปีตั้งเป้าเติบโตที่ 1.2 หมื่นล้านบาท และสามารถลดต้นทุนเงินฝากได้ดีกว่าเป้าหมายปี 2562 ที่ 0.23%

ส่วน NPF เพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ล้านบาท ทำให้สัดส่วน NPF เพิ่มเป็น 20% เนื่องจากแบงก์มีนโยบายแก้ NPF แบบเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่แบบซื้อเวลาด้วยการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรนอัตรากำไรไปเรื่อย ๆ เพื่อให้สะท้อนศักยภาพที่แท้จริงของลูกหนี้ โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายแก้ NPF ที่เป็นลูกหนี้เดิมให้เหลือไม่เกิน 8,000 ล้านบาท ส่วน NPF เกิดใหม่คาดไว้ว่าจะเพิ่มราว 1,200 ล้านบาท (มาจากพอร์ตที่ปรับโครงสร้างหนี้มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งมีกว่า 1 หมื่นล้านบาท) หรือรวมกันแล้วอยู่ที่ราว 9,300-9,400 ล้านบาท

“ไตรมาสแรกนี้ ผลการดำเนินงานยังดีขึ้น แต่ยังไม่ได้ตามที่คาดหวัง เพราะมีปัญหาอุปสรรคอยู่หลายประการ แต่ถ้าเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าก็ถือว่าดีขึ้น ยอดเติบโตของสินเชื่อก็อยู่ในระดับกลาง ๆ ยังไม่เท่าที่เราต้องการ แต่ก็พอใช้ได้ ส่วน NPF ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการแก้ไขของเราที่เข้มข้นมากขึ้น ทำให้ลูกค้าที่เคยปรับโครงสร้างหนี้ไป ไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ตามแนวเดิมได้ ก็จะมีลูกค้าที่กลับมาเป็น NPF (reentry)”

“วุฒิชัย” บอกว่า การแก้ NPF ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้นก็คือ ถ้าลูกค้าไม่มีศักยภาพก็จะเจรจาควบคู่กับดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 ปี ดังนั้นในช่วงระหว่างนี้ NPF อาจจะมีการปรับขึ้นได้ แต่เชื่อว่าระยะยาวจะเป็นการแก้ไขที่ชัดเจน โดยภายใน 3-4 ปีจะลด NPF เหลือ 5% ได้ ซึ่งตนยังไม่มีแนวคิดที่จะขาย NPF ออกไป หรือโอนให้ IAM เพิ่มเติม

ด้านสถานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ณ สิ้นไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่กว่า -1,200 ล้านบาท หรือกว่า -2% ปรับตัวดีขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2561 ที่อยู่ที่ -1,400 ล้านบาท หลังได้เงินเพิ่มทุน 1.8 หมื่นล้านบาทจากคลังแล้ว ซึ่งการที่เงินกองทุนไม่อยู่ที่ 0% น่าจะเกิดจากการใส่เงินที่ล่าช้ากว่าที่วางแผนไว้

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 และช่วงที่เหลือของปีนั้น “วุฒิชัย” ยอมรับว่า การขยายสินเชื่อใหม่ปีนี้ค่อนข้างยาก ทั้งด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ของรัฐที่เข้มงวดขึ้นจากความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือน ซึ่งหลายแบงก์ก็ปล่อยสินเชื่อชะลอ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน (LTV) ขณะที่การลงทุนเอกชนก็ยังไม่ฟื้น

“เรายังมุ่งเน้นลูกค้ามุสลิม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้ารายกลางและรายเล็ก ไม่สามารถตอบโจทย์ที่เราอยากโตเป็นหมื่นล้านบาทได้ ดังนั้นอีกส่วนที่เราโฟกัสก็จะมีลูกค้าชั้นดี ลูกค้ารายใหญ่ที่เรามองว่ามีความเสี่ยงต่ำ ก็จะมาช่วยขยายสินเชื่อให้โตได้”

ทั้งนี้ ระยะข้างหน้าแบงก์ยังต้องมีการปรับกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลภายในใหม่ รวมถึงปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้เอื้อต่อภารกิจในอนาคต พร้อมลงทุนระบบคอร์แบงกิ้ง เพื่อให้สามารถขึ้นระบบโมบายแบงกิ้งได้ในช่วงไตรมาส 2-3 ปี 2563

ส่วนการหาพันธมิตรมาร่วมลงทุนนั้นก็ยังอยู่ในแผน แต่คงไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากปัจจุบันเงินกองทุนยังติดลบ จึงต้องทำผลดำเนินงานให้ดีขึ้นชัดเจนก่อน

“ถ้าจะให้ BIS อยู่ระดับขั้นต่ำที่ 8% จะต้องใช้เงินกองทุนอีก 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้เทียบกับพอร์ตปัจจุบัน แต่ถ้าเราจะโตไปถึง 80,000 ล้านบาท BIS ขั้นต่ำก็ต้องประมาณ 7,000 ล้านบาท แต่ก็ได้แค่ขั้นต่ำ สถาบันการเงินส่วนใหญ่ต้องเป็นเลข 2 หลัก ซึ่งจริง ๆ เราควรจะอยู่ระดับ 12.5% แบบนั้นเงินกองทุนก็ต้องเพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาทฉะนั้น ตัวเลขเงินกองทุนที่เราต้องการจากพันธมิตรก็ต้องดูตามช่วงเวลา เพราะอาจจะเป็นไปได้ว่าถึงเราหาพันธมิตรเข้ามาได้ก็อาจจะได้แค่รักษาระดับ BIS ขั้นต่ำไว้”

ดูแล้ว ไอแบงก์ก็ยังอาการหนักอยู่ แม้จะเพิ่งได้เพิ่มทุนก้อนใหญ่ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพราะเงินกองทุนยังคงติดลบและหนี้เสียยังพุ่งไม่หยุด ส่วนแผนหาพันธมิตรก็ต้องชะลอไปก่อน