ค่าเงินดอลลาร์แกว่งตัวในกรอบ จับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟด

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/6) ที่ระดับ 31.32/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (17/6) ที่ระดับ 31.31/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก รายงานดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ทรุดตัวลง 26 จุด สู่ระดับ -8.6 จุดในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีครึ่ง จากระดับ 17.8 ในเดือนพฤษภาคม โดยการปรับตัวลงของดัชนีภาคการผลิต ได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน รวมทั้งตลาดแรงงานที่ชะลอตัวลง นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 18/-19 มิถุนายนนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เฟดจะยังคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินกลับเพิ่มการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่อ่อนแอ ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายได้ส่งสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ย ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.32-31.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (18/6) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1231/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/6) ที่ระดับ 1.1210/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในภูมิภาค ภายหลังธนาคารกลางของเยอรมนีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะชะลอตัวในไตรมาสที่ 2 ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1180-1.1242 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1183/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (18/6) เปิดตลาดที่ระดับ 108.34/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/6) ที่ระดับ 108.62/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้แถลงต่อรัฐสภาว่า จะดำเนินนโยบายการเงินอย่างเหมาะสม ภายใต้อุปสงค์ที่ชะลอตัวทั่วโลก ซึ่งอาจกดดันให้มีนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.18-108.34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การแถลงมติอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) (19/6) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (20/6) ดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมาส 1/2562 (20/6) ดัชนีการผลิตเดือน มิ.ย. จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (20/6) ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน พ.ค. จาก Conference Board (20/6) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือน มิ.ย. จากมาร์กิต (21/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.05/-1.95 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.3/-1.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ