ดอลลาร์ขยับขึ้นเล็กน้อย ตลาดจับตาดูผลการประชุมเฟดคืนนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 19 มิถุนายน 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ ที่ระดับ 31.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (18/6) ที่ระดับ 31.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามการแข็งค่าของค่าเงินหยวน หลังนักลงทุนมีความหวังว่าสหรัฐและจีนจะมีการเจรจาการค้าได้ หลังจากที่ทรัมป์ระบุว่าจะพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำของจีน ในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G20 ที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงหลายเดือนนี้ ขณะเดียวกันนักลงทุนก็ยังคงติดตามผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในคืนนี้ โดยนักลงทุนคาดว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25-2.50% ในรอบนี้ แต่เฟดอาจจะแสดงความเห็นแบบสายพิราบ โดยเป็นผลจากตัวเลขการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัว รวมถึงความไม่แน่นอนทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยวานนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลง 0.9% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 1.269 ล้านยูนิต จากระดับ 1.281 ล้านยูนิตในเดือน เม.ย. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.23-31.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.23/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/6) ที่ระดับ 1.1200/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/6) ที่ระดับ 1.1190/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในช่วงตลาดซื้อขายนิวยอร์ก ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลง ภายหลังจากที่นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1188-1.1206 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1202/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/6) ที่ระดับ 108.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/6) ที่ระดับ 108.29/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)  ได้เริ่มการประชุมแล้วในวันนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนมากขึ้นเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า มีการคาดการณ์ว่า BOJ จะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตลาดและเศรษฐกิจในประเทศ ภายหลังจากที่ BOJ ระบุในเดือน เม.ย.ว่า จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำที่สุดอย่างน้อยจนถึงช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2563 ด้วยความหวังที่ว่าเศรษฐกิจจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ได้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.25-108.45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.38/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (19/6) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (20/6) ดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมาส 1/2562 (20/6) ดัชนีการผลิตเดือน มิ.ย. จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (20/6) ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน พ.ค.จาก Conference Board (20/6) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือน มิ.ย. จากมาร์กิต (21/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.3/-2.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.0/-2.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ