ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังเฟดส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยในครึ่งปีหลัง

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/6) ที่ระดับ 31.11/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (19/6) ที่ระดับ 31.23/24 บาท/ดอลลาร์ ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังมีรายงานว่าจากจำนวนกรรมการเฟดทั้งหมด 17 ราย เกือบครึ่งหนึ่งสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดย 7 รายสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 จำนวน 2 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้ ขณะที่ 1 รายสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ  0.25 จำนวน 1 ครั้ง และ 1 รายสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 จำนวน 1 ครั้ง ส่วนอีก 8 รายสนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติ 9 ต่อ 1 เสียงในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับร้อยละ 2.25-2.50 ในการประชุมรอบล่าสุด ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้

ขณะเดียวกันเฟดได้คงตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐไว้ที่ร้อยละ 2.1 ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวในปีหน้า (2563) สู่ระดับร้อยละ 2.0 จากร้อยละ 1.9 และคงตัวเลขอัตราการขยายตัวในระยะยาวไว้ที่ร้อยละ 1.9 นอกจากนี้ เฟดได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการว่างงานของสหรัฐ ในปี (2562) นี้สู่ร้อยละ 3.6 จากร้อยละ 3.7 และปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวในปีหน้า (2563) สู่ร้อยละ 3.7 จากเดิมที่ร้อยละ 3.8 นายเจอโรมพาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมเฟดเมื่อวานนี้ โดยนายเจอโรมได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว พร้อมกับส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้เฟดยังได้ตัดคำว่า “อดทน” ออกจากประโยค “เฟดจะใช้ความอดทนก่อนที่จะมีการตัดสินใจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย” ตามที่ปรากฏในแถลงการณ์ฉบับก่อนหน้านี้ อีกทั้งนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมเฟดเมื่อวานนี้ โดยนายเจอโรมได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวและผลกระทบของสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจโลก พร้อมกับส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเร็ว ๆ นี้

ในประเด็นเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) กล่าวว่า เขาจะเจรจาการค้ากับเจ้าหน้าที่จีน ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะพบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นอกรอบการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G20 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28-29 มิถุนายน อย่างไรก็ดี นายไลท์ไฮเซอร์ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า การเจรจาดังกล่าวจะเริ่มขึ้นเมื่อใด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.92-31.13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/6) ที่ระดับ 1.1252/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/6) ที่ระดับ 1.1202/04 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นสวนทางกับเงินดอลลาร์สหรัฐหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1224-1.1304 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1294/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/6) ที่ระดับ 107.66/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/6) ที่ระดับ 108.40/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยน
แข็งค่าลงสวนทางกับเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ระหว่างวัน (20/6) นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันนี้ โดยกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่เป้าหมาย BOJ ที่ระดับร้อยละ 2 อย่างค่อยเป็นค่อยไป และหากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในทิศทางที่อ่อนแรงลง ธนาคารกลางญี่ปุ่นก็จะใช้มาตรการที่จำเป็นในทันที ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.45-108.13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.83/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจ ในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (20/6), ดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมาส 1/2562 (20/6) ดัชนีการผลิตเดือนมิถุนายนจากเฟดฟิลาเดลเฟีย (20/6), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนพฤษภาคมจาก Conference Board (20/6) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือนมิถุนายนจากมาร์กิต (21/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.60/-2.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.00/-2.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ