เงินบาททำสถิติ แข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี จับตาผลประชุมกนง.(26 มิ.ย.)

แฟ้มภาพ
เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี ขณะที่ ดัชนีหุ้นไทยแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันก่อนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นและแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีที่ 30.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังผลการประชุมเฟด ซึ่งแม้ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมรอบนี้ แต่ได้ส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ท่ามกลางความกังวลต่อประเด็นสงครามการค้าและแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ในวันศุกร์ (21 มิ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 30.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (14 มิ.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.60-31.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจในประเทศ น่าจะอยู่ที่ผลการประชุมกนง. (26 มิ.ย.) และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนพ.ค. ของธปท. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ สัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด ตลอดจนการประชุม G20 ประเด็นด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ดัชนีราคาบ้านเดือนเม.ย. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก Core PCE Price Index เดือนพ.ค. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/62 (final)

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทย แตะระดับสูงสุดที่ 1,727.83 จุด ก่อนจะกลับมาปิดปลายสัปดาห์ที่ 1,717.14 จุด เพิ่มขึ้น 2.68% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 75,145.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.78% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มขึ้น 0.97% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 359.30 จุด

ดัชนีตลาดหุ้นไทยย่อตัวลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ ตามแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ก่อนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา โดยมีปัจจัยหนุนจากความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ความคาดหวังเชิงบวกต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงสัญญาณการลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยลดช่วงบวกลงเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนพ.ค. ยังคงหดตัวลง

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,710 และ 1,700 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,740 และ 1,765 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมกนง. (26 มิ.ย.) การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในช่วงการประชุม G20 (28-29 มิ.ย.) สถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รวมถึงรายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนพ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. ของยูโรโซน