“ปลัดสมชาย” แจงกองทุนเอสเอ็มอีประชารัฐสร้างความเท่าเทียม ผลักดันผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ ถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ

“ปลัดสมชาย” แจงกองทุนเอสเอ็มอีประชารัฐสร้างความเท่าเทียมทุกภูมิภาค ผลักดันผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ ถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และในนามประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เผยว่า จากกรณีที่มีข่าวว่า ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ต่างจังหวัด ยากที่จะเข้าถึงสินเชื่อในโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ต้องการสนับสนุนเงินทุนสำหรับยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถ รวมถึงใช้เป็นทุนหมุนเวียน เพื่อให้เอสเอ็มอีธุรกิจและอุตสาหกรรม มีมูลค่าสูงขึ้นตามนโยบาย Thailand 4.0 รวมถึง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและยกระดับให้เป็นประเทศรายได้สูง ที่สำคัญสามารถสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งนับเป็นกองทุนแรกที่มีความโดดเด่นในการช่วยสร้างความเสมอภาคทุกพื้นที่ กระจายวงเงินไปทุกจังหวัดในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำของระบบเศรษฐกิจ รวมถึง สร้างผู้ประกอบการใหม่ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ โดยมีคำขอสินเชื่อผ่านอุตสาหกรรมจังหวัด ยื่นมายังกองทุนฯ แล้วถึง 3,030 ราย วงเงินถึง 15,522 ล้านบาท

โดยมาตรการพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ ประกอบด้วย 1) โครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) วงเงิน 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลาชำระคืน 7 ปี ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้ใน 3 ปีแรก ไม่ต้องมีหลักประกัน ให้กู้สูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย และ 75% ขึ้นไปจะเป็นวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของนิติบุคคล ธุรกิจต้องอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด 2) โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan โดย ธพว. วงเงิน 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3% คงที่ 3 ปีแรก ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี กู้ได้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน นอกจากนี้ กรณีกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถใช้ บสย. ค้ำประกันได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของนิติบุคคล ที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ทำให้กิจการมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อความเข้มแข็ง, เป็นผู้ประกอบการใหม่ (NEW/START UP) หรือที่มีนวัตกรรม, มีศักยภาพ หรือมีแนวโน้มเติบโตเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ SMEs 4.0 และ

3) โครงการฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) วงเงิน 2,000 ล้านบาท รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้คืนสูงสุดไม่เกิน 3 ปี ไม่มีดอกเบี้ย ไม่ต้องใช้หลักประกัน ไม่มีอัตราดอกเบี้ย เพื่อเปิดโอกาสเป็นครั้งแรกให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ในรูปแบบการให้เงินทุนหมุนเวียนหรือปรับปรุงกิจการ และ โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงินกองทุน 1,000 ล้านบาท รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระหนี้คืน 5-7 ปี ไม่มีดอกเบี้ย ไม่ต้องใช้หลักประกัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของบุคคลธรรมดา คณะบุคคล และนิติบุคคล ที่ประสบปัญหาการชำระหนี้ หรือขาดเงินทุนหมุนเวียน สามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้

ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ขอรับทุนไว้ล่วงหน้าแล้ว เช่น ต้องเป็นเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย ธุรกิจอยู่ในกลุ่ม 10 S-Curve หรือธุรกิจที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัด ต้องเป็นเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการภาครัฐในการบ่มเพาะธุรกิจใหม่ มีประวัติการชำระหนี้เป็นปกติอย่างน้อย 12 เดือน ไม่อยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากโครงการเงินทุนของภาครัฐ และมาตรการฟื้นฟูกิจการของภาครัฐ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะได้รับเงินทุนดอกเบี้ยต่ำแล้ว ยังได้รับการพัฒนาศักยภาพธุรกิจต่างๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น มาตรการอบรมความรู้ ช่วยสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการตลาด ฯลฯ เพื่อยกระดับให้ก้าวเป็นเอสเอ็มอีที่มีขีดความสามารถธุรกิจสูงขึ้น ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อระบบเศรษฐกิจไทย แทนที่จะให้แต่เงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพียงอย่างเดียว

“กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทยดำเนินธุรกิจให้มีความสามารถการแข่งขัน และสอดคล้องกับเจตนาต้องการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีจดทะเบียนเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติไว้ล่วงหน้า เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เอสเอ็มอีมีความเข้มแข็ง และเป็นต้นแบบแสดงให้เห็นว่า ถ้าเอสเอ็มอีดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องอยู่ในระบบจะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน รายที่ยังไม่เข้าข่ายการให้บริการ รัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง สามารถใช้บริการของกองทุนอื่นที่มีไว้รองรับอยู่แล้วได้ ซึ่งนอกจากได้รับสินเชื่อแล้ว ยังมีมาตรการเสริมศักยภาพควบคู่ไปด้วย เพื่อที่อนาคตจะพัฒนาให้สามารถเข้าสู่ระบบได้เช่นกัน” นายสมชายกล่าว