ไม่รอด!! ก.ล.ต.กล่าวโทษ “วิชัย” ผู้บริหาร IFEC ต่อ ปอศ.กรณีทุจริตต่อหน้าที่

ก.ล.ต.กล่าวโทษ นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ในฐานะประธานกรรมการบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IFEC) ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) กรณีกระทำโดยทุจริตโดยแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น

สืบเนื่องจากช่วงเดือนธันวาคม 2559 IFEC มีกรรมการบริษัทน้อยกว่าจำนวนองค์ประชุมที่กฎหมายกำหนด นายวิชัยซึ่งเป็นประธานกรรมการของบริษัทจึงเรียกประชุมผู้ถือหุ้น IFEC เพื่อเลือกตั้งกรรมการทดแทนกรรมการที่ว่าง โดยในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 และการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 นายวิชัยในฐานะประธานกรรมการและประธานที่ประชุมทั้ง 2 ครั้ง ได้ดำเนินการให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการบริษัททดแทนตำแหน่งที่ว่างโดยใช้วิธีการลงคะแนนเสียงแบบสะสม (cumulative voting)* ทั้งที่รู้ว่าข้อบังคับของบริษัทมิได้กำหนดให้สามารถกระทำได้ ซึ่งต่อมาในวันที่ 26 มิถุนายน 2560 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการที่ได้มาจากการเลือกด้วยวิธีการลงคะแนนเสียงดังกล่าว เนื่องจากไม่เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท และเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535

การกระทำของนายวิชัยดังกล่าวเป็นการกระทำที่ตั้งใจกระทำผิดและได้รับประโยชน์จากผลการเลือกตั้งดังกล่าวซึ่งเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ตามมาตรา 89/7 และมาตรา 281/2 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ก.ล.ต.จึงได้กล่าวโทษนายวิชัยต่อ ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งการถูกกล่าวโทษทำให้นายวิชัยเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศ ก.ล.ต.**จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ

นอกจากนี้ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนอื่นๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารของ IFEC รวมทั้งอดีตคณะกรรมการและผู้บริหารของ IFEC ว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ จะเป็นผลให้บุคคลดังกล่าว อาจถูกดำเนินการตามกฎหมายซึ่งมีทั้งโทษอาญาและมาตรการลงโทษทางแพ่ง

ทั้งนี้ การกล่าวโทษของ ก.ล.ต.เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนการวินิจฉัยคดี ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ