ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังทรัมป์ประกาศคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติม

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/6) ที่ระดับ 30.65/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (24/6) ที่ระดับ 30.76/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ท่ามกลางกระแสคาดการณ์อย่างต่อเนื่องว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนหน้า

นอกจากนี้ ยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน ที่ยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเพื่อทำการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ในการตอบโต้ต่อกรณีที่อิหร่าน  ยิงโดรนของสหรัฐตกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยสหรัฐได้ประกาศคว่ำบาตรทางการเงินต่อผู้นำสูงสุด รวมถึงผู้นำทางกองทัพของอิหร่าน นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน นอกรอบการประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายนนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.63-30.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (25/6) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1410/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/6) ที่ระดับ 1.1392/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มชะลอตัว ภายหลังการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี ลดลงสู่ระดับ 97.4 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1379-1.1412 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1386/88 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (25/6) เปิดตลาดที่ระดับ 107.21/21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/6) ที่ระดับ 107.37/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ สถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน และข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนยังคงเพิ่มการถือครองสกุลเงินเยน ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.80-107.13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.08/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. จาก Conference Board (25/6) ดัชนีการผลิตเดือน มิ.ย. จากเฟดสาขาริชมอนด์ (25/6) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน พ.ค. (26/6) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน พ.ค. (26/6) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (27/6) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2562 (27/6) ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน พ.ค. (28/6) การใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือน พ.ค. (28/6) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (28/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.55/-2.45 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.0/-2.95 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ