คลังแก้ระเบียบซื้อขายหุ้นใหม่ ดีลควบรวม “ทีเอ็มบี-ธนชาต” รับอานิสงส์

ดีล “ทีเอ็มบี-ธนชาต” รับอานิสงส์คลังแก้ระเบียบซื้อขายหุ้นใหม่ไม่ต้องชง ครม. คลังปัดเว้นภาษี 8 พันล้านบาท ให้ “ธนชาต” เป็นการเฉพาะ-หนุนประโยชน์ด้านราคาหุ้นแทน ฟาก “ทีเอ็มบี” ถกเตรียมรายงานความคืบหน้าดิวดิลิเจนซ์ผู้ถือหุ้น ก.ค.นี้ ลั่นดีลเดินหน้าฉลุย ธ.ค.แบงก์ใหม่เริ่มรันได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้ลงนามออกระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจำหน่ายหุ้นและซื้อหุ้นของกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. 2562 เป็นต้นไป โดยเป็นการแก้ไขปรับปรุงระเบียบฉบับเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งสาระสำคัญมีการกำหนดกลุ่มหลักทรัพย์ที่สามารถจำหน่ายได้เพิ่มเติม เช่น หลักทรัพย์ที่ได้มาจากการยึดทรัพย์ หลักทรัพย์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เอกชนดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว รวมถึงมีการเพิ่มทางเลือกให้กระทรวงการคลังสามารถจำหน่ายหลักทรัพย์ให้กับกองทุนของภาครัฐได้ นอกเหนือจากการจำหน่ายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) หรือจำหน่ายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

“ระเบียบใหม่นี้จริง ๆ แล้วแก้เพื่อให้รับกับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แต่ดีลควบรวมธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กับธนาคารธนชาต (TBANK) จะได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะเดิมถ้ากระทรวงการคลังขายหุ้น เงินที่ได้ต้องนำส่งงบประมาณแผ่นดิน แต่ตามระเบียบใหม่นี้ไม่ต้องนำส่ง สามารถพักรอไว้ลงทุนต่อไปได้ โดยต้องให้ รมว.คลังอนุมัติก่อน ซึ่งกระทรวงการคลังจะใช้เงินปันผลจากกองทุนรวมวายุภักษ์ราว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มทุนในดีลควบรวมดังกล่าว ก็ถือว่าตรงล็อกพอดี แต่จริง ๆ ถึงไม่มีดีลนี้ก็ต้องแก้ไขปรับปรุงระเบียบอยู่แล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นเรื่องภาษีที่ทางธนาคารธนชาตต้องการให้มีการยกเว้นภาษีเพิ่มเติมในส่วนที่เกินขอบเขต หรือหลักการในการควบรวมกิจการ โดยเป็นส่วนของบริษัทลูก มูลค่าภาษีราว 8,000 ล้านบาทนั้น ที่ผ่านมาทางธนชาตมีการเข้าหารือกับ รมว.คลังไปแล้ว ซึ่ง รมว.คลังยืนยันไปแล้วว่า ไม่สามารถให้สิทธิทางภาษีเพิ่มเติมไปจากมาตรการภาษีที่ให้ไว้อยู่แล้ว

“เรื่องภาษีไม่ได้เป็นปัญหาแล้วตอนนี้ ทุกอย่างเดินหน้าต่อ เพราะเรื่องนี้คุยกันก่อนที่จะมีลงนามข้อตกลงในเบื้องต้น (MOU) แบบไม่ผูกพันทางกฎหมายระหว่าง 2 แบงก์อีก ทั้งนี้ การยกเว้นภาษีให้เป็นการเฉพาะกรณี ให้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะผิดวินัยการเงินการคลัง โดยคงต้องเป็นการให้ประโยชน์กับทางธนชาตในด้านราคาหุ้นแทน” แหล่งข่าวกล่าว

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า ความคืบหน้าหลังจากที่ทางทีเอ็มบีได้มีการลงนามข้อตกลงในเบื้องต้น (MOU) แบบไม่ผูกพันทางกฎหมายกับทางธนาคารธนชาต ไปเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2562 โดยในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ จะมีการประชุมในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อรายงานความคืบหน้าการตรวจสอบสถานะการเงิน (due diligence) ส่วนการตัดสินใจในเชิงนโยบายหลังจากนี้ ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่

แหล่งข่าวจากทีเอ็มบีกล่าวว่า ในเดือน ก.ค.นี้จะมีการประชุมเพื่อเตรียมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เนื่องจากทางแบงก์จะต้องนำความคืบหน้าดิวดิลิเจนซ์รายงานให้ผู้ถือหุ้นทราบ โดยขณะนี้แผนการควบรวมกิจการถือว่าเดินไปได้ตามแผน ยังไม่มีความล่าช้าเกิดขึ้น ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ก็จะเริ่มดำเนินงานภายใต้แบงก์ใหม่ที่เกิดจากการควบรวมได้ในเดือน ธ.ค. 2562 นี้ โดยกระบวนการเพิ่มทุนจะเรียบร้อยก่อนหน้านั้น ซึ่งการจัดหาเงินทุนนั้นทางทีเอ็มบีจะเป็นฝ่ายดำเนินการจัดหาเงินทุนมูลค่า 1.3-1.4 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ สัดส่วน 70% ของเงินทุนที่จัดหา จะมาจากการออกหุ้นเพิ่มทุน ส่วนที่เหลือมาจากการออกตราสารหนี้ ซึ่งแผนการออกหุ้นเพิ่มทุนมี 2 ส่วน คือ 1.หุ้นเพิ่มทุนราว 5-5.5 หมื่นล้านบาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนชาต ได้แก่ บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) และแบงก์โนวาสโกเทีย (BNS) และ 2.หุ้นเพิ่มทุนส่วนที่เหลือ 4-4.5 หมื่นล้านบาท ทาง TMB จะเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นปัจจุบัน และนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP)