เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ขณะตลาดจับตาผลการประชุม G20

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ที่ (24/6) ที่ระดับ 30.78/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (21/6) ที่ระดับ 30.85/86 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง หลังจากที่สหรัฐส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยหลังจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดกล่าวย้ำว่า เฟดมีความเป็นอิสระจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ถึงแม้ว่าทรัมป์ได้พยายามกดดันให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรุนแรง โดยเฟดกำลังประเมินว่า ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ และเฟดกำลังใช้ท่าทีรอคอยและจับตาดูสถานการณ์ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจในระยะนี้ ขณะเดียวกันนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ได้แสดงความเห็นคัดค้านในการที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 0.50% ในเดือนหน้า เพราะมองว่าอาจจะเป็นระดับที่มากเกินไป

]ทั้งนี้ นักกลงทุนยังคงรอดูการพบกันนอกรอบระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการประชุม G20 ที่ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน โดยประเด็นที่นักลงทุนจับตามองเป็นหลัก คือการหารือระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในเรื่องของข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ซึ่งล่าสุดในวันที่ (27/6) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อสหรัฐว่า ตนอาจเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มเติม หากการเจรจาทางการค้ากับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ไม่มีความคืบหน้า โดยสหรัฐอาจเริ่มเก็บภาษีที่อัตราร้อยละ 10 ก่อนในวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐและอาจใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมกับบริษัทจีนด้วย อย่างไรก็ตาม นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐได้แถลงว่าสหรัฐและจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ไม่ยาก เนื่องจากทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงไปแล้วคิดเป็นร้อยละ 90 ของข้อตกลงทั้งหมด ทั้งนี้นายมนูชินได้แสดงความเห็นด้วยว่าทางสหรัฐมีหนทางที่จะบรรลุข้อตกลงโดยสมบูรณ์

สำหรับปัจจัยในประเทศในวันพุธ (26/6) คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี พร้อมปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 3.3% จากเดิมคาด 3.8% ส่วนส่งออกคาดการณ์ไม่ขยายตัว จากก่อนหน้าคาดโต 3.0% ขณะที่นำเข้าคาดการณ์ -0.3% จากเดิมคาดการณ์ขยายตัว 3.1% โดยในช่วงสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.62-30.88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (28/6) ที่ระดับ 30.68/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ที่ (24/6) ที่ระดับ 1.1380/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/6) ที่ระดับ 1.1307/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้อีซีบีจะมีการส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยเช่นเดียวกับเฟด แต่เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบอยู่แล้ว ทำให้ตลาดคาดว่าอีซีบีไม่น่าจะมีพื้นที่ในการใช้เครื่องมือนี้ ประกอบกับหนี้อิตาลีที่ยังคงส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซาของอียู และปัญหา Brexit ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด จึงทำให้อีซีบีมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยในสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1345-11.1412 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/6) ที่ระดับ 1.1380/82 ดอลลาร์สหรับ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ที่ (24/6) ที่ระดับ 107.36/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/6) ที่ระดับ 107.54/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นท่ามกลางปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ รอบโลก ทั้งข้อพิพาทระหว่างสหรัฐและอิหร่าน และประเด็นสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้นักลงทุนเข้าถือครองเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยในสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 106.79-108.15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (28/6) ที่ระดับ 107.63/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ