กสิกรไทยไพรเวทแบงก์ตั้งเป้า AUM ปี’62 โต 9%

แฟ้มภาพ

ไพรเวท แบงก์กิ้ง กรุ๊ป ธนาคารกสิกรไทย ตั้งเป้า AUM ปี’62 เติบโตที่ 8-9% ฟากผลตอบแทนปีนี้เชื่อพลิกบวก 5-6% หลัง 5 เดือนแรกบวกขึ้นมากว่า 9%

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยภาพรวมการดำเนินธุรกิจ Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทยในช่วงครึ่งปีแรกปี 2562 ว่า (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2562) จำนวนลูกค้าอยู่ที่ประมาณ 11,000 คน สินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ทั้งหมดประมาณ 7.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น เงินฝาก กองทุนรวม (Mutual fund) เติบโต 3.5% จากปี 2561 กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงและ/หรือมีความซับซ้อน (Sophisticated mutual fund) เติบโต 6.5% จากปี 2561 โดยมีสัดส่วนลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงชาวจีนจำนว​​นประมาณ 160 คน ​​​และคิดเป็นสัดส่วนสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ทั้งหมดประมาณ 4.4 พันล้านบาท โดยกลยุทธ์สำหรับลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงจีนนั้น บริษัทฯ จะเน้นการเข้าพบเพื่อแนะนำบริการให้ลูกค้า

ขณะที่ความคืบหน้าผลิตภัณฑ์ Land Loan for Investment เมื่อปี 2561 ได้แนะนำให้ลูกค้าใช้ประโยชน์จากที่ดินในครอบครอง ซึ่งถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่อง โดยนำมาเป็นหลักประกันสร้างสภาพคล่องเพื่อต่อยอดการลงทุน ปัจจุบัน มีลูกค้าสนใจนำที่ดินเข้าโครงการเป็นจำนวนมาก คาดว่าวงเงิน 4 พันล้านบาทอาจต้องขยายเพิ่มภายในปีนี้

สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปี 2562 คาดว่าจำนวนลูกค้าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 12,000 คน สินทรัพย์ภายใต้การจัดการ ได้แก่ กองทุนรวม (Mutual fund) ตั้งเป้าเติบโต 8.5% จากปี 2561 ส่วนกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงและ/หรือมีความซับซ้อน (Sophisticated mutual fund) ตั้งเป้าเติบโต 9% จากปี 2561 โดยตั้งเป้า AUM ปีนี้เติบโต 8-9% และคาดว่าผลตอบแทนปีนี้จะพลิกบวกขึ้นมาได้ที่ประมาณ 5-6% หลังสิ้นปี 2561 ติดลบประมาณ 2-3%

ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย มองว่าเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังส่อแววที่จะเข้าสู่ช่วงท้ายของวัฏจักรเศรษฐกิจเติบโต (Late cycle) โดยสัญญาณที่ชัดเจนที่สุด คืออัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ต่ำสุดในรอบ 50 ปี แสดงถึงความตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการขับเคลื่อนอัตราการเติบโตต่อไปในอนาคต อีกทั้งบางช่วงเวลา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะยาวลดลงต่ำกว่าพันธบัตรระยะสั้น ดังที่เคยเกิดมาแล้วในปี 2007 ก่อนที่จะตามมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2008 ตัวเลขเศรษฐกิจหลักอื่นๆ เช่น ปริมาณการค้าโลก Q1/2019 (+0.4%) ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน (พฤษภาคม 2019 +5.0%) ขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2008 ทำให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังต่อการลงทุน สะท้อนภาพผ่านความผันผวนในตลาดทุน ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และสินค้าโภคภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ช่วง Late cycle ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เพียงแต่อัตราการขยายตัวจะชะลอลง เพราะความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจลดลง อีกทั้งมีความเปราะบางต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายรัฐบาลและการพุ่งขึ้นของต้นทุน ประเด็นเหล่านี้เป็นการส่งสัญญาณให้ธนาคารกลางในเศรษฐกิจสำคัญๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ หรือ FED เพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงิน ท่ามกลางความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย และสร้างสภาพแวดล้อมให้เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ต่อไป ดังที่ FED และ ECB เริ่มสื่อสารกับตลาดถึงเป้าหมายที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย แม้ว่าการเจรจาข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในที่ประชุม G20 จะสรุปได้ถึงการสงบศึกชั่วคราว นับเป็นสัญญาณที่ดี เพราะสามารถหลีกเลี่ยงการโต้ตอบที่เลวร้ายกว่าปัจจุบัน แต่ความไม่ชัดเจนในรายละเอียดของข้อตกลง รวมทั้งกำหนดการ ย่อมหมายถึงภาวะยืดเยื้อต่อไป

เมื่อหันกลับมามองภาพเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากข้อพิพาทการค้าเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะปริมาณการส่งออกสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางไปยังจีนที่หดตัวลงมาก และเป็นเหตุผลหลักที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกมาปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2019 ลงมาอยู่ที่ 3.1% จาก 3.7% ขณะที่คาดว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ที่จะช่วยให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นได้ และแนวโน้มที่เป็นบวกหลังจากการสงบศึกชั่วคราวระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อาจจะช่วยให้ภาคการส่งออกของไทยฟื้นตัวได้

โดยผลกระทบต่อการลงทุนของลูกค้าไพรเวทแบงกิ้ง ธนาคารกสิกรไทย ประเมินว่าจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และไทยดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับการลงทุนของลูกค้าในครึ่งปีหลัง คือความผันผวนที่สูงขึ้น และแน่นอนย่อมกระทบวัตถุประสงค์การลงทุนของลูกค้าส่วนใหญ่ เช่น ลูกค้าต้องการผลตอบแทนสูง โดยลงทุนกระจุกตัวในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น อาจขาดทุนระยะสั้นๆได้ ลูกค้ากลุ่มที่ต้องการรายได้สม่ำเสมอ อาจเผชิญกับความคาดหวังของรายได้ที่ลดลง สำหรับลูกค้ากลุ่มที่ต้องการสะสมความมั่งคั่ง เน้นให้เงินลงทุนค่อย ๆ เติบโต จะกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลากหลาย มีความผันผวนน้อยกว่าการลงทุนแบบกระจุกตัว และเปิดโอกาสลงทุนในสินทรัพย์ที่อาจมีสภาพคล่องน้อย เช่น อสังหาริมทรัพย์ และ/หรือ หุ้นนอกตลาด แต่มีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าสินทรัพย์ทางการเงินที่นักลงทุนคุ้นเคยโดยทั่วไป

ส่วนกลยุทธ์การลงทุนสำหรับลูกค้า KBank Private Banking Group ภาพตลาดที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น แต่ยังมีความคาดหวังที่จะปรับตัวดีขึ้นได้ หากสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นของรัฐบาลในแต่ละประเทศ รวมทั้งนโยบายการเงินเชิงรุกของธนาคารกลางในเศรษฐกิจหลักๆ โดยเฉพาะ FED รวมไปถึงความคืบหน้าหรือความชัดเจนในทางที่ดีของการเจรจาข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เราจึงเน้นกลยุทธ์การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง โดยเพิ่มน้ำหนักใน 1) พอร์ตหลัก (Core portfolio) ที่ลงทุนทุกสินทรัพย์ทั่วโลก 2) Private Equity ที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ที่มีความสามารถในการเติบโต 3) Positive Impact การลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาล และจะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับโลกในอนาคต 4) Mega Trend การลงทุนในกิจการที่สอดคล้องกับเทรนด์การเปลี่ยนผ่านทางด้านเทคโนโลยี สังคมเมือง การเพิ่มขึ้นของผู้สูงวัยและการปรับเปลี่ยนค่านิยมการใช้ชีวิต ตลอดจนภาวะขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งกลยุทธ์การลงทุนดังกล่าวทั้งหมดข้างต้นสามารถช่วยสร้างผลตอบแทนและบริหารความเสี่ยงขาลงควบคู่กันไป เพื่อสร้างความมั่นคงของเงินลงทุนและตอบโจทย์ความมั่งคั่งที่ระยะยาว

ทั้งนี้ ด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ KBank Private Banking มีแผนที่จะนำเสนอการลงทุนที่เน้นสินทรัพย์ หรือกลยุทธ์ที่มีความสัมพันธ์ต่อการเคลื่อนไหวของภาวะตลาดโดยรวมน้อย เนื่องจากบางสถานการณ์ การกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลากหลายทั่วโลกแบบดั้งเดิมนั้นไม่เพียงพอ ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในปี 2018 ที่ผลตอบแทนทั้งหุ้น และตราสารหนี้ทั่วโลกปรับตัวลงพร้อมกัน และถึงแม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไม่ปกติ คือเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา แต่นับเป็นปีที่สร้างความหวั่นไหวและผิดหวังต่อนักลงทุนทั่วโลก เราจึงใช้เป็นแนวทางในการเฟ้นหากลยุทธ์ที่พยายามจะหลีกเลี่ยงต่อผลกระทบของสถานการณ์ดังกล่าวหากเกิดขึ้นซ้ำอีก เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ กิจการนอกตลาดหลักทรัพย์ ตราสารหนี้ทั่วโลก รวมถึงสกุลเงินเพื่อให้ได้ผลตอบแทนทุกสภาวะตลาด Long/Short เน้นให้ความผันผวนต่ำ ควบคู่กับการสร้างผลตอบแทนได้ในทุกสภาวะตลาด ​เพื่อตอบโจทย์ให้กับลูกค้าทุกระดับความเสี่ยง ความต้องการ และทุกวัฏจักรเศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้า