ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเล็กน้อยขณะที่ตลาดรอความคืบหน้าสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/7) ที่ระดับ 30.61/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (3/7) ที่ระดับ 30.56/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังเมื่อคืนวาน (3/7) นายแลร์รี่ คุดโลว์ หัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐ และจีนจะหารือกันผ่านทางโทรศัพท์ในสัปดาห์หน้า เพื่อหาทางคลี่คลายข้อพิพาททางการค้าระหว่างสองปรเทศ และอาจจะกำหนดการประชุมแบบพบปะกันต่อไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงกดดันจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ไม่น่าพอใจนัก โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้รายงานว่ายอดขาดดุลทางการค้าของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 สู่ระดับ 55,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขาดดุลมากกวาระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขาดดุลที่ 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยอดขาดดุลที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐ เพิ่มขึ้นตามยอดสินค้านำเข้า โดยอาจมีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจในสหรัฐรีบกักตุนสินค้าเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน อีกทั้ง ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ ยังได้เปิดเผยด้วยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 102,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 140,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ยังได้รายงานดัชนีภาคบริการของสหรัฐ ว่าลดลงสู่ระดับ 55.1 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 56.0

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศ เมื่อวาน (3/7) นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แถลงว่าทิศทางนโยบายการเงินของ ธปท.ในปัจจุบันยังมองว่ายังไม่จำเป็นต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังน่าจะเติบโตในระดับร้อยละ 3.3 ตามที่ได้คาดการณ์ไว้ แม้ว่าจะไม่เป็นไปตามคาดการณ์ในครั้งแรกที่ร้อยละ 4 ก็ตาม อีกทั้งยังไม่เห็นถึงความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ธปท.ไม่ได้ปิดโอกาสในการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง หากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยคลาดเคลื่อนจากคาดการณ์ไปมาก และเกิดความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งยังถูกกดดันด้วยการบริโภคครัวเรือนที่ยังไม่เห็นสัญญาณการกลับมาฟื้นตัวได้ดีมากนัก

นอกจากนั้น ธปท.ยังต้องติดตามข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของประเทศสำคัญ อย่างธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าจะมีทิศทางอัตราดอกเบี้ยอย่างไร สำหรับเช้าวันนี้ (4/7) มีรายงานมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 76.4 จาก 77.7 ในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สู่ระดับที่ต่ำสุดในรอบ 21 เดือนจากความกังวลสถานการณ์การเมืองในประเทศ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.58-30.66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/7) ที่ระดับ 1.1287/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (3/7) ที่ระดับ 1.1285/87 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบแคบแม้ไอเอชเอส มาร์กิตจะออกมารายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการประจำเดือนมิถุนายนของสหภาพยุโรปออกมาอยู่ที่ 52.2 และ 53.6 สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 52.1 และ 53.4 ส่วนของเยอรมนีออกมาอยู่ที่ 52.6 และ 55.8 สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คารดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 52.6 และ 55.6 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1275-1.1295 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1285/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/7) ที่ระดับ 107.75/77 เยน/ดอลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (3/7) ที่ระดับ 107.70/72 เยน/ดอลลาร์สหรับ เงินเยนอ่อตค่าสวนทางกับเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนายแลร์รี่ คุดโลว์ ได้ประกาศว่าจะมีการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีนในอาทิตย์หน้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.69-107.84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.78/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจ ในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานประจำเดือนกรกฎาคมของเยอรมนี (5/7), ดัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมิถุนายนของสหรัฐ (5/7), อัตราการว่างงานประจำเดือนมิถุนายนของสหรัฐ (5/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swao oiubt) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.50/-2.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.50/-2.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ