สรรพากรเก็บภาษีดอกเบี้ยฝากได้เพิ่ม 400 ล้าน

สรรพากรเผยมีรายได้ภาษีเพิ่มจากการสแกนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ 400 ล้านบาท จากการให้แบงก์รายงานข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากรอบครึ่งปี 2562 ระบุมี 5 แสนราย มีรายได้ดอกเบี้ยเกิน 2 หมื่นบาท/ปี “เอกนิติ” มั่นใจปีนี้เก็บรายได้เข้าเป้า 2 ล้านล้านบาท นำร่องใช้ “อีแสตมป์” กับ 5 ประเภทตราสารอิเล็กทรอนิกส์ เล็งต้นปีหน้าขยายครบ 28 ประเภท

นายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมสรรพากรให้สถาบันการเงินรายงานข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ที่ได้รับดอกเบี้ยจากทุกบัญชี รวมกันเกิน 20,000 บาทต่อปีนั้น ในรอบครึ่งปี 2562 พบว่า มีผู้ฝากเงินประมาณ 5 แสนราย ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เกิน 20,000 บาทต่อปี ซึ่งต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% โดยคิดเป็นเงินภาษีที่กรมจะได้เพิ่มขึ้นประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งกรมสรรพากรได้แจ้งให้สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องหักภาษีไว้แล้ว

“กลุ่ม 5 แสนรายนี้ส่วนใหญ่จะมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อยู่หลายแบงก์ โดยแต่ละแบงก์อาจจะได้ดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาท แต่พอรวมทุกแบงก์แล้วเกิน ดังนั้นก็จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ทุกแบงก์ที่มีบัญชีออมทรัพย์อยู่ ส่วนรอบต่อไปก็สิ้นปี แต่ยังประเมินไม่ได้ว่าภาษีจะได้เท่าเดิมหรือไม่”

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมได้ออกประกาศเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 58) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้เปิดให้ผู้ที่ทำตราสารอิเล็กทรอนิกส์ 5 ประเภท คือ สัญญาจ้างทำของ สัญญากู้ยืมหรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร ใบมอบอำนาจ ใบมอบฉันทะสำหรับให้ลงมติในที่ประชุมบริษัท และสัญญาค้ำประกัน สามารถเสียอากรแสตมป์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Stamp) ได้ทั้งผ่านทางช่องทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร และช่องทางที่กรมได้เปิดให้เอกชนทำระบบ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทสนใจเข้ามาร่วมดำเนินการแล้ว

“ปัจจุบันธุรกรรมเป็นอิเล็กทรอนิกส์กันมากแล้ว กรมจึงออกประกาศเกี่ยวกับ e-Stamp ออกมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และบริษัทภาคธุรกิจที่ต้องใช้อากรแสตมป์ ทำให้ไม่ต้องไปซื้อแสตมป์กระดาษมาติดแล้ว แต่สามารถทำผ่านระบบได้เลย โดยตอนนี้เราเริ่มนำร่อง 5 ตราสารก่อน แต่ต้นปี 2563 จะขยายให้ครบ 28 ตราสาร อย่างไรก็ดี ตรงนี้ไม่ได้มีผลกับรายได้ภาษี แต่เน้นอำนวยความสะดวกเป็นหลัก”

นายเอกนิติกล่าวด้วยว่า สำหรับในช่วง 8 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2562 กรมยังจัดเก็บรายได้เกินเป้าอยู่ราว 38,000 ล้านบาท และคาดว่าถึงสิ้นปีงบประมาณ จะทำได้ตามเป้าหมายที่ 2 ล้านล้านบาทแน่นอน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวไปบ้าง

อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือน ส.ค.จะเป็นรอบการยื่นภาษีนิติบุคคลครึ่งปี ซึ่งต้องลุ้นว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ส่วนผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้น กระทบกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เก็บจากสินค้านำเข้าเป็นหลัก แต่ถือว่าไม่มาก ส่วนที่ว่าสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าจะกระทบกับกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) นั้น ในมุมด้านภาษีไม่มีผลกระทบ เพราะการที่บาทแข็งก็มีผลทั้งบริษัทที่ได้ประโยชน์และบริษัทที่เสียประโยชน์