SCB ตุน 9 หมื่นล้าน เปิดเกมรุกธุรกิจรอบใหม่

ต้นปีที่ผ่านมา (22 มี.ค.) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯถึงการเซ็นบันทึกข้อตกลงความเข้าใจกับ “FWD Group Financial Services Pte. Ltd.” ที่ได้เข้ามาเจรจาซื้อกิจการ บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCB Life) บริษัทย่อยของ SCB

กระทั่งนำมาสู่งานแถลง “SCB’s Strategic Move 2019” เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ดีลครั้งนี้ถูกประกาศว่าเป็น “บิ๊กดีล” เพราะทาง SCB จะได้รับค่าตอบแทนเป็นมูลค่าสูงถึงกว่า 9.27 หมื่นล้านบาท โดยทาง “FWD” จะทำสัญญาซื้อหุ้นที่ “SCB” ถืออยู่ใน “SCB Life” จำนวน 65.97 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนถึง 99.20% ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝั่งยังได้ทำสัญญาผูกขาดแบบ “exclusive” ในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตของ “เอฟดับบลิวดีประกันชีวิต” ในประเทศไทยผ่าน SCB เป็นระยะเวลา 15 ปีอีกด้วย

“อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร SCB กล่าวว่า การตัดสินใจขายธุรกิจประกันชีวิตครั้งนี้เพราะ SCB น่าจะเหมาะกับการเป็น “ช่องทางการขาย” มากกว่าการทำโปรดักต์เอง ซึ่ง “FWD” มีความเชี่ยวชาญและมีองค์ความรู้ขั้นสูงในการพัฒนาโปรดักต์ออกมาแข่งขันได้ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ความต้องการลูกค้า

“เราคงต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้โปรดักต์และรูปแบบของการให้บริการ เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ไปกวนใจ ไม่ไปขายผิด และไม่ไปยัดเยียดสินค้าที่ไม่ถูกต้องให้กับลูกค้า โดยได้ตั้งทีมพิเศษมาดูแล ทั้งทางฝั่งของแบงก์และฝั่ง FWD เพื่อจะตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกค้าที่ถือกรมธรรม์อยู่กับ SCB Life มากกว่า 2 ล้านกรมธรรม์ และลูกค้าของ FWD อีก 2.2 ล้านราย จะไม่เกิดความสับสน โดยจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษในช่วงของการเปลี่ยนผ่านหรือส่งไม้ต่อ และขอยืนยันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงทีมบริหารและพนักงานใน SCB Life แน่นอน เป็นแค่การเปลี่ยนผู้ถือหุ้นเท่านั้น” นายอาทิตย์ยืนยัน

ทั้งนี้ หลังการเริ่มต้นสัญญา (1 ก.ค.) ทาง SCB จะเสนอคณะกรรมการธนาคาร และเสนอต่อผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติภายใน 30-45 วันนับจากนี้ จากนั้นต้องยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและธนาคารสามารถบันทึกกำไรจากการขายหุ้นได้ในปีนี้

“เบื้องต้นเราจะนำเงินที่ได้มาไปซื้อธุรกิจเข้ามาเติมเต็มเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ซึ่งที่ผ่านมาเราขายของออกไปไม่เคยซื้อเข้ามา แต่ตอนนี้โมเดลธุรกิจเปลี่ยนไปแล้ว เราจะใช้กลยุทธ์การขยายตัวแบบ in organic (การเติบโตด้วยธุรกิจใหม่ ๆ) ผ่านการซื้อกิจการที่สามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาให้ได้ทันที โดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี” นายอาทิตย์กล่าว

สำหรับที่ผ่านมา SCB Life สร้างกำไรประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งธนาคารประเมินแล้วว่าการขายออกไปจะสร้างผลการดำเนินงานที่ดีกว่า เนื่องจากยังมีรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นจากการขายโปรดักต์ให้กับ FWD ซึ่งปัจจุบันรายได้ค่านายหน้า (คอมมิสชั่น) ที่ธนาคารได้รับจากการขายโปรดักต์ประกันชีวิตของ SCB Life มีมากกว่าส่วนแบ่งกำไรของ SCB Life ทำให้ดีลนี้เป็นโอกาสในการสร้างผลการดำเนินงานของธนาคารให้เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง

“หลายปีที่ผ่านมาสินค้าของ SCB Life ไม่ได้ดีมาก และขายได้น้อยลงเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ ซึ่งการขายประกันชีวิตเราได้ 2 ทาง อย่างแรกคือ กำไร เพราะเราถือหุ้นในบริษัท และอย่างที่ 2 คือ ค่าคอมมิสชั่น ที่ได้จากการขาย โดยการที่ขายให้กับ FWD เรามองเป็นโอกาสที่จะเพิ่มรายได้ค่าคอมมิสชั่นในส่วนนี้ให้เยอะขึ้น” นายอาทิตย์กล่าว

ขณะที่ “อารักษ์ สุธีวงศ์” ผู้จัดการใหญ่ SCB เสริมว่า ดีลครั้งนี้จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับบริษัทและผู้ถือหุ้น โดยหวังว่าผลประกอบการในอนาคตจะมีทิศทางที่ดีขึ้น สำหรับเงิน 9.27 หมื่นล้านบาทที่ได้รับธนาคารมีแผนจะนำไปเป็นกระสุนเพื่อหนุนการเติบโตให้แก่ธนาคาร โดยเน้นการไปซื้อธุรกิจ ทั้งธุรกิจที่มีกำไร และธุรกิจที่ต่อยอดได้ เช่น บริษัทเทคโนโลยี เป็นต้น

“ธุรกิจที่เราบุกเยอะ คือ digital lending (การให้สินเชื่อผ่านดิจิทัล) และธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่ง (wealth management) ดังนั้น การต่อยอดจะอยู่ใน 2 ธุรกิจนี้ค่อนข้างเยอะ ปัจจุบันเราเริ่มมีการพูดคุยแล้ว โดยหนึ่งในบริษัทที่กำลังพูดคุยอยู่ เป็นบริษัทที่สนใจจะเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์เรา เพื่อลงทุนเป็น joint venture เหมือนกับที่ธนาคารไทยพาณิชย์เคยทำกับบริษัท จูเลียส แบร์ ก่อนหน้านี้ หรือเป็นการเอาเงินไปต่อยอด” นายอารักษ์กล่าว

นอกจากนี้ การที่มีเงินก้อนนี้เข้ามาเสริมจะช่วยให้ธนาคารสามารถทำธุรกรรมใหญ่ ๆ ได้เพิ่มเติม เช่น การเปิดธุรกิจใหม่ หรือออกไปซื้อกิจการต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลา แต่ภายในปี 2563 คาดว่าจะมีดีลออกมาให้เห็นแน่นอน

ฟาก “วิน ทัน ฟง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม FWD กล่าวว่า การลงทุนในครั้งนี้จะคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงทุน เนื่องจากธุรกิจประกันชีวิตในไทยยังมีโอกาสที่จะเติบโตอีกมาก เพราะปัจจุบันการถือครองกรมธรรม์ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น

ทั้งนี้ หากดูข้อมูลจากสมาคมประกันชีวิตไทยเมื่อปี 2561 พบว่า “SCB Life” มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมอยู่ที่ 50,910 ล้านบาท รั้งอันดับ 5 ของอุตสาหกรรมจากส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) 8.11% ส่วน “FWD” มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมอยู่ที่ 28,045 ล้านบาท อยู่อันดับ 8 ด้วยมาร์เก็ตแชร์ 4.47% ซึ่งภายหลังดีลครั้งนี้น่าจะทำให้เบียดขึ้นมาอยู่อันดับ 4 ได้

หลังจากนี้ต้องจับตา SCB จะการเปิดเกมรุกธุรกิจใหม่ ๆ อย่างไรต่อไป