ส่องแบงก์ Q2 กำไร 5.1 หมื่นล. โบรกชี้ลงทุนรัฐดันรายได้สินเชื่อรายใหญ่

โบรกฯส่องกำไรกลุ่มแบงก์ไตรมาส 2/62 อยู่ที่ 51,668 ล้านบาท ลดลงจาก Q1/62 “บล.เอเซีย พลัส” คาดการณ์กำไร 10 แบงก์ลดลง 7.1% QoQ เหตุ Q1 มีบันทึกกำไรพิเศษกรณี BAY ขายหุ้น “เงินติดล้อ” ส่วนเทียบ YoY ลดลง 3.2% ชี้สัญญาณสินเชื่อรายใหญ่ปีนี้มาเร็วกว่าคาด อานิสงส์โครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ เตรียมเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้น SCB หลังโกย 9.27 หมื่นล้านบาท จากขายหุ้น SCB Life ฟาก บล.อาร์เอชบี มองกำไรแบงก์ปี’62 ทั้งปีทรงตัว

นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส (ASP) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลประกอบการงวดไตรมาส 2/62 (Q2) ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) จำนวน 10 แห่ง คาดว่าจะมีกำไรสุทธิรวม 51,668 ล้านบาท ลดลง 7.10% เทียบกับไตรมาส 1/62 (QoQ) ที่มีกำไร 55,626 ล้านบาท และลดลง 3.20% เทียบไตรมาส 2/61 (YoY) ที่มีกำไร 53,351 ล้านบาท โดยกำไรไตรมาส 2/62 ที่ลดลงจากไตรมาส 1/62 เนื่องจากในไตรมาสแรกมีการบันทึกกำไรพิเศษจากกรณีธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีการขายหุ้นบริษัท เงินติดล้อ 50% ทั้งนี้ หากไม่รวมรายการดังกล่าวกำไรสุทธิของแบงก์ในไตรมาส 2/62 จะเติบโต 5.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/62 ส่วนเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนถือว่าทรงตัว

ทั้งนี้ ภาพรวมรายได้สินเชื่อในไตรมาส 2/62 ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก โดยสินเชื่อรายใหญ่ ปรับเพิ่มขึ้นโดดเด่น จากปกติแล้วจะไปปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี โดยเฉพาะรายได้สินเชื่อของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ลูกค้าเริ่มเบิกใช้สินเชื่อมากขึ้น ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารกรุงไทย (KTB) ก็เห็นแนวโน้มสินเชื่อรายใหญ่ที่เติบโตขึ้น ถือว่าเป็นสัญญาณบวกที่สินเชื่อรายใหญ่มาเร็วกว่าที่ควรจะเป็นในปีนี้

“สินเชื่อรายใหญ่เพิ่มขึ้นจากโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่อนุมัติแล้ว นอกจากนี้ ความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลก็ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของคนเริ่มกลับมา และเริ่มมีการเบิกใช้สินเชื่อกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเติบโตอย่างรุนแรง แต่ถือว่าภาพรวมสินเชื่อดีกว่าช่วง 4 เดือนแรก”

ส่วนสินเชื่อในกลุ่มอื่น ๆ เช่น สินเชื่อเอสเอ็มอี (SMEs) ยังเติบโตไม่โดดเด่นนัก ซึ่งปกติสินเชื่อเอสเอ็มอีจะเห็นการเติบโตมากขึ้นช่วงไตรมาส 3-4 ด้านสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อรถยนต์ ยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ส่วนสินเชื่อบ้านชะลอลง เนื่องจากถูกกดดันด้วยมาตรการคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV)

ด้านส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของ 10 แบงก์ในงวดไตรมาส 2/62 ปรับตัวลดลง โดยมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ KTB นำรายได้ที่ได้จากการชำระคืนเงินกู้ยืมจาก บมจ.เอคิว เอสเตท (AQ) บันทึกเป็นรายได้ดอกเบี้ยในไตรมาส 1/62 ส่วนไตรมาส 2/62 ไม่มีการบันทึกรายการพิเศษ ส่งผลให้ผลตอบแทน (ยีลด์) ลดลงกระทบทำให้ NIM ลดลงและ BAY ที่ขายเงินติดล้อ ทำให้การรับรู้รายได้ดอกเบี้ยลดลง กระทบ NIM

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายของ 10 แบงก์ในไตรมาส 2/62 คาดว่าจะลดลงจากไตรมาสแรกที่มีค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่ โดยไตรมาส 2/62 มีเพียงกลุ่มการเงินธนชาต (TCAP) ที่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายดังกล่าวประมาณ 700 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังเห็นการปรับขึ้นเล็กน้อยที่ 3.19% หรืออยู่ในเกณฑ์ทรงตัวไม่มีประเด็นที่จะต้องกังวล

ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า หุ้นเด่นในกลุ่ม (top pick) ยังคงแนะนำ BBL ที่ราคาเป้าหมาย 201.00 บาท/หุ้น และ KBANK ที่ราคาเป้าหมาย 192.50 บาท/หุ้น โดยฝ่ายวิจัยกำลังพิจารณาปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน SCB เพื่อเพิ่มเข้ามาเป็นหุ้นเด่นด้วยเช่นกัน เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการขาย บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCB Life) ให้กับกลุ่มเอฟดับบลิวดี (FWD) มูลค่า 9.27 หมื่นล้านบาท

นางสาวอุษณีย์ กล่าวด้วยว่า รายได้สินเชื่อแบงก์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 มีแนวโน้มดีขึ้นจากครึ่งแรก โดยมาจากการเติบโตตามฤดูกาลในทุกกลุ่มสินเชื่อ โดยเฉพาะในไตรมาส 4/62 ที่ยอดขอสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นสูงสุดจากทุก ๆ ไตรมาส อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสสุดท้ายกลุ่มธนาคารมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลให้กำไรสุทธิงวดไตรมาส 4/62 ออกมาไม่โดดเด่นมากนัก แต่ภาพรวมช่วงครึ่งปีหลังยังน่าจะออกมาดีกว่าครึ่งปีแรก

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) หรือ RHB กล่าวว่า ภาพรวมกำไรสุทธิงวดไตรมาส 2/62 ของธนาคาร 8 แห่ง ไม่รวม BAY, บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) และธนาคารซีไอเอ็มบี (CIMBT) คาดว่าจะอยู่ที่ 42,000-43,000 ล้านบาท ทรงตัว QoQ แต่ลดลง 6.5% YoY ทำให้ครึ่งปีแรกกลุ่มแบงก์มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 85,000 ล้านบาท ลดลง 7% YoY

“ไส้ในของกำไรสุทธิไตรมาส 2/62 ในแง่ของสินเชื่อคาดว่าจะเติบโตดีขึ้น หลังจากที่รายได้สินเชื่อไตรมาสแรกโตไม่มากนัก โดยจะมาจากสินเชื่อแบงก์ใหญ่ ได้แก่ SCB BBL และ KTB เนื่องจากเป็นธนาคารที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ในการเข้าซื้อกิจการ บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) ที่จะต้องกู้เงินจากธนาคาร ซึ่งจะหนุนรายได้สินเชื่อโดยรวมฟื้นตัวดีขึ้น 1.5% QoQ”

นายธนเดชกล่าวว่า คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ภาพรวมกำไรแบงก์จะดีขึ้น และคาดการณ์กำไรกลุ่มแบงก์ปี 2562 ที่ 176,000 ล้านบาท เติบโต 1% ซึ่งไม่รวมรายการพิเศษจากการขาย SCB Life และการควบรวมกิจการธนาคารทหารไทย กับธนาคารธนชาต