“เฟซบุ๊ก”นัดถก ธปท.กรณีสกุลเงินดิจิทัล “Libra”

แบงก์ชาติเผยเฟซบุ๊กขอเข้าหารือเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล Libra เล็งศึกษากลไกและความเสี่ยงถูกนำไปใช้ในเชิงทุจริต ฟากความคืบหน้า e-KYC คาดแล้วเสร็จครบกระบวนการภายในปี’62 แง้มออกบุธงานฟินเทคแฟร์ให้ประชาชนทดลองใช้ NDID ก่อนออกของจริง

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงิน และเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่เฟซบุ๊กประกาศพัฒนาสกุลเงิน Libra เพื่อนำมาใช้เป็นสกุลเงินดิจิทัลใหม่ ขณะนี้ได้รับการติดต่อจากเฟซบุ๊กเพื่อที่จะเข้ามาหารือเกี่ยวกับสกุลเงินลิบราร่วมกัน โดยธปท.ต้องการที่จะศึกษากลไกของสกุลเงินลิบราในทุกมิติ ทั้งด้านความปลอดภัย ความเสถียรของระบบ และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับช่องทางการนำไปใช้ในแง่การทุจริต รวมถึงการดูแลลูกค้าว่าจะทำผ่านช่องทางใด

“เราอยู่ในเรดาร์ที่เขาให้ความสนใจ เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 50 ล้านคน ส่วนการที่เราอ่านเอกสารเผยแพร่ (White Paper) ของลิบราหรือติดตามความคืบหน้าจากข่าวอาจช่วยสร้างความเข้าใจได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ได้เป็นการลงลึกถึงรายละเอียด ซึ่งเราต้องการทำความเข้าใจกลไก โมเดลธุรกิจ และจะยังไม่ด่วนสรุปอะไรจนกว่าจะได้พูดคุยกัน” นางสาวสิริธิดา กล่าว

โดยธปท.เข้าใจความพยายามของเฟซบุ๊กที่ต้องการแก้ปัญหา (pain point) เรื่องระบบการชำระเงินและการโอนเงินระหว่างประเทศให้สะดวกรวดเร็วไปทั่วโลก เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น และช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม ธปท.จะต้องพิจารณาในมิติอื่นๆด้วย ทั้งในด้านความมั่นคง ความมีเสถียรภาพของมูลค่า Libra กลไกการเงินต่างๆ รวมถึงการดูแลประชาชนที่อาจมีจากการถูกหลอกลวงให้ลงทุน จึงขอให้ประชาชนศึกษาทำความเข้าใจก่อนลงทุนต่างๆ อย่าหลงเชื่อหากมีคนชักชวนลงทุน

ขณะนี้ ธปท.ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่อง stable coin – Libra โดยเฉพาะ และคณะทำงานฯ ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กลต. และธนาคารกลางอื่นๆ อย่างใกล้ชิด เนื่องจาก ธปท.เห็นว่า Libra ถือเป็นประเด็นระดับโลกที่แต่ละประเทศคงต้องหารือกัน โดยได้มีการติดต่อเฟซบุ๊กหารือในเร็วๆ นี้ เพื่อดูความชัดเจนของกลไกต่างๆ รวมทั้งแนวทางการกำกับดูแลของประเทศต่าง ๆ

ขณะที่ความคืบหน้าของระบบการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ภายในงาน “Bangkok FinTech Fair 2019: Collaboration for the Future of Finance” จะมีการเปิดให้ทดลองใช้การยืนยันตัวตนด้วยชีวภาพ (Biometrics) ซึ่งปัจจุบันในเฟสแรกธนาคารต่างๆ ได้เปิดให้ลูกค้าของตนทดลองใช้เป็นการเฉพาะแล้ว ส่วนเฟสสองที่จะต้องเชื่อมต่อเข้ากับการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (NDID) กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบระบบในการเชื่อมต่อกันข้ามธนาคาร โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในปีนี้ โดยภายในงาน Bangkok FinTech Fair 2019 จะมีบูธ NDID ให้ผู้ร่วมงานได้ทดลองใช้ก่อนเปิดให้ใช้งานจริงอีกด้วย

ทั้งนี้ สำหรับมหกรรมการเงิน Bangkok FinTech Fair 2019: Collaboration for the Future of Finance จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 ก.ค.62 ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินของไทย การนำความก้าวหน้าของบริการทางการเงินและเทคโนโลยีทางการเงินที่หลากหลายมาแสดงเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเป็นวงกว้าง และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาด้านฟินเทค