บาทผวนผวน จับตาตัวเลข non-farm

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ในสัปดาห์นี้ ช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักหลังจากที่ปัจจัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนผ่อนคลายลงชั่วคราว โดยในการประชุม G20 ในวันเสาร์ที่ผ่านมา (29/6) นายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายสี จิ้นผิง สามารถตกลงในเชิงการค้าได้ และระงับการขึ้นภาษีรอบใหม่ระหว่างกัน นอกจากนี้ นายทรัมป์จะระงับการแบนบริษัทหัวเว่ยในการติดต่อทางการค้ากับบริษัทสหรัฐ อย่างไรก็ดี ดอลลาร์ร่วงลงอีกครั้งในวันพุธ (3/7) ภายหลังที่สหรัฐขู่จะเรียกเก็บภาษีจากสหภาพยุโรป สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ผลสำรวจสถาบันจัดการด้านอุปทานสหรัฐ (ISM) พบว่าดัชนีภาคบริการลดลงแตะระดับ 55.1 ในเดือนมิถุนายน จากระดับ 56.9 ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า สหรัฐขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นถึง 8.4% แตะ 5.55 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน จากที่คาดว่าจะขาดดุลเพียง 5.40 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยสาเหตุอาจเกิดจากการที่ภาคธุรกิจแห่ตุนสินค้าเพราะกังวลเรื่องการเก็บภาษีนำเข้าจากจีน

สำหรับตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 102,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน จากที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 135,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ นักลงทุนรอดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่จะมีการเปิดเผยออกมาในวันศุกร์นี้ (5/7) โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า การจ้างงงานในเดือนมิถุนายนอาจเพิ่มขึ้น 160,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 75,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดวงเงินประมูลพันธบัตร ธปท.อายุ 91 วัน และ 182 วัน รวมสัปดาห์ละ 1 หมื่นล้านบาทในเดือนกรกฎาคม ขณะที่ ธปท.ระบุว่าจะมีกลไกบริหารจัดการเงินบาทที่เพิ่มเข้มข้นขึ้นภายหลังจากที่ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยก่อนหน้านี้ ทาง ธปท.เคยปรับลดวงเงินประมูลพันธบัตรระยะ 3 เดือน และ 6 เดือนลงตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท โดยการลดแรงจูงใจในช่องทางในการเข้ามาพักเงินของนักลงทุนต่างชาติ ก่อนที่จะเริ่มกลับมาปรับเพิ่มวงเงินประมูลพันธบัตรดังกล่าวในเดือนพฤษภาคม 2561 ทั้งนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าแตะระดับ 30.50 บาท/ดอลลาร์ในวันจันทร์ (1/7) ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 ปี และแข็งค่าขึ้นมาราว 6.5% ตั้งแต่ต้นปี ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวระหว่าง 30.50-30.76 บาท/ดอลลาร์ และปิดตลาดวันศุกร์ (5/7) ที่ระดับ 30.64/66 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ที่ (1/7) ที่ระดับ 1.1374/76 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับปิดตลาดวันศุกร์ (28/6) ที่ 1.1368/70 ดอลลาร์/ยูโร ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงอย่างมากในวันจันทร์ท้ายตลาด โดยได้รับแรงกดดันจากหลายปัจจัย รัฐบาลอิตาลียืนยันว่าตัวเลขขาดดุลงบประมาณประจำปี 2020 อยู่ที่ระดับ 2.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้ขู่ที่จะลงโทษอิตาลีเนื่องจากไม่สามารถลดหนี้ในภาครัฐจำนวนมากในปีที่แล้ว ตามที่ให้สัญญาไว้ และได้เรียกร้องให้รัฐบาลอิตาลีเสริมความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังได้แรงกกดดันภายหลังจากที่สหรัฐขู่เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมจากสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU) เป็นวงเงิน 4 พันล้านดอลลาร์ เพื่อตอบโต้การที่ EU ให้เงินอุดหนุนอย่างผิดกฎหมายแก่อุตสาหกรมเครื่องบิน ซึ่งรายการดังกล่าวครอบคลุมถึง ชีส นม กาแฟ ผลิตภัณฑ์โลหะบางชนิด เช่น ทองแดง รวมถึงวิสกี้ และผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ทั้งนี้ การที่สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีดังกล่าวต่อ EU หรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับผลการตัดสินขององค์การการค้าโลก (WTO) กรณีที่อียูให้เงินอุดหนุนการผลิตเครื่องบิน โดยเฉพาะต่อบริษัทแอร์บัส ขณะเดียวกันทาง USTR จะจัดทำประชาพิจารณ์ในเดือนหน้าเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวต่อ EU

นอกจากนั้น มีการเสนอชื่อนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) คนใหม่ต่อจากนายมาริโอ ดรากี ประธานคนปัจจุบันที่จะหมดวาระลงเดือนตุลาคม โดยนักลงทุนมองว่าง ทั้งนายดรากี และนางลาการ์ดมีความเห็นแบบสายพิราบ ในสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1267-1.1374 ดอลลาร์/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (5/7) ที่ระดับ 1.1261/63 ดอลลาร์/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ที่ (1/7) ที่ระดับ 108.09/11 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวผันผวนระหว่างสัปดาห์โดยปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมากในช่วงต้นสัปดาห์แตะระดับ 108 หลังจากเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 107 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการที่สถานการณ์ระหว่างจีนและสหรัฐผ่อนคลายลง อย่างไรก็ดี ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในกลางสัปดาห์จากความกังวลภายหลังจากที่สหรัฐขู่จะเรียกเก็บภาษีจากทางสหภาพยุโรป ทำให้นักลงทุนเข้าถือครองเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ทั้งนี้ในวันพุธ (3/7) กรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่า บีโอเจสามารถคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำมากในขณะนี้ต่อไปหลังกรอบเวลาที่กำหนดไว้ได้ โดยกล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจจะขยายตัวปานกลางต่อไป ขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวนั้นจะช่วยให้การส่งออกฟื้นตัวจากภาวะซบเซา ซึ่งรวมถึงความขัดแย้งทางการค้า และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแผนของอังกฤษที่จะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) สัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 107.52-108.53 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (5/7) ที่ระดับ 108.01/04 เยน/ดอลลาร์