สรรพากรเข้มไล่บี้ภาษีธุรกิจ หมดเวลาปล่อยผี “เอสเอ็มอี”

สรรพากรเดินหน้าตรวจเข้มเอสเอ็มอีไม่ยอมลงทะเบียนบัญชีเดียว หลังสิ้นสุดมาตรการปล่อยผี 1 ก.ค.ที่ผ่านมา “เอกนิติ” พอใจเอสเอ็มอี 80,000 รายยอมเข้าระบบ ได้เม็ดเงินภาษีเพิ่ม 3,200 ล้านบาท แจงเน้นเปิดโอกาสเอกชนเสียภาษีถูกต้อง มากกว่าหวังเพิ่มรายได้เข้ารัฐ 

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามมาตรการของกรมสรรพากรที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท (เอสเอ็มอี) ลงทะเบียนใน “ระบบส่งเสริมผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ” ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

หากต้องการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา พ.ศ. 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.จนสิ้นสุดมาตรการไปเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้ประกอบการมาลงทะเบียนทั้งสิ้นราว 80,000 ราย และทำให้กรมสรรพากรได้เม็ดเงินภาษีเพิ่มขึ้นราว 3,200 ล้านบาท

“มาตรการนี้ไม่ได้มุ่งหวังจำนวนรายหรือเม็ดเงิน เราต้องการให้ผู้ประกอบการปรับปรุงงบฯการเงินของบริษัทให้ถูกต้อง เป็นบัญชีเล่มเดียว เป็นการให้โอกาสปรับปรุงตัวเป็นคนดี” 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตนได้ลงนามออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเรื่อง กำหนดเหตุอันสมควร กรณีบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไม่ต้องยื่นรายการภาษีอากรทุกประเภทผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2562 เป็นต้นไป

เป็นการดำเนินการต่อเนื่องภายใต้พระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้คนที่มาลงทะเบียนไว้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรสำหรับภาษีอากรทุกประเภท ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Filing) ให้ครบถ้วน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2562 ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 รวม 12 เดือน

หากไม่ดำเนินการก็จะถูกยกเลิกสิทธิที่ได้รับยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา ยกเว้นแต่มีเหตุขัดข้องสุดวิสัย 4 ประการตามที่ประกาศได้กำหนดไว้ คือ

1. กรณีที่ผู้เสียภาษียื่นแบบ และสั่งโอนเงินเพื่อชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่ระบบการโอนเงินของหน่วยรับชำระภาษีขัดข้อง โดยผู้เสียภาษีเข้าใจว่าได้โอนเงินชำระภาษีแล้ว

2. กรณีที่ผู้เสียภาษียื่นแบบในกำหนดเวลา แต่การสั่งโอนเงินเพื่อชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำเร็จเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแล้ว เนื่องจากธนาคารไม่ปิดระบบการโอนเงิน เป็นเหตุให้ผู้เสียภาษีเข้าใจว่าได้ยื่นแบบและชำระภาษีผ่านระบบเรียบร้อยแล้ว

3.กรณีที่ระบบการรับแบบของกรมสรรพากรขัดข้องในระหว่างที่ผู้เสียภาษียื่นแบบและสั่งโอนเงิน

4. กรณีระบบเครือข่ายของกรมสรรพากรขัดข้องในระหว่างที่ผู้เสียภาษียื่นแบบและสั่งโอนเงิน

นายเอกนิติ ย้ำว่า จากนี้ไปกรมสรรพากรจะตรวจสอบผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนที่มีความเสี่ยงว่าเสียภาษีไม่ถูกต้องอย่างเข้มข้นด้วยระบบการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) เพราะที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้แก้ไขแล้ว หากเจอรายใดเสียภาษีไม่ถูกต้องจะดำเนินการเต็มที่ ทั้งคิดเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม

รวมถึงบทลงโทษทางอาญา โดยปัจจุบันกรมสรรพากรนำดิจิทัลเข้ามาใช้ในกระบวนการต่าง ๆ เพื่อลดขั้นตอน นำ data analytics มาใช้ โดยเชื่อมข้อมูลเป็นบิ๊กดาต้าวิเคราะห์ความเสี่ยงธุรกิจได้ ซึ่งจะแยกพฤติกรรมผู้เสียภาษีได้ว่า ธุรกิจประเภทใดมีการโกงภาษีแบบใด เช่น การย่อแบบ เป็นต้น


อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวด้วยว่า มั่นใจว่าการจัดเก็บรายได้ภาษีปีงบประมาณ 2562 นี้จะทำได้ตามเป้าที่กรมได้รับมอบหมายให้จัดเก็บที่ 2 ล้านล้านบาทแน่นอน โดยช่วง 8 เดือน (ต.ค. 61-พ.ค. 62) จัดเก็บภาษีได้เกินเป้าหมายอยู่ 38,000 ล้านบาท