เล็งต่อยอด “แต๊ะเอียช่วยชาติ” คลังรุกคืบระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์

ช่วงที่ผ่านมา แม้จะยังไม่มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ แต่กระทรวงการคลังก็มีเรื่องเสนอให้ ครม.ทุกสัปดาห์

เมื่อเร็วๆ นี้ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง ได้เสนอรายงานสรุปผลการดำเนิน “มาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์” หรือที่เรียกกันว่า “แต๊ะเอียช่วยชาติ” นั่นเอง

มาตรการนี้ รัฐจะจ่าย “เงินชดเชย” ให้แก่ผู้ชำระเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการด้วย “บัตรเดบิต” หรือ “คิวอาร์โค้ด” ให้แก่ร้านค้าในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ใช้ระบบบันทึกการเก็บเงิน (point of sale : POS) จำนวน 5 บาท ในทุก ๆ การชำระ VAT จำนวน 7 บาท และจะชดเชยสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน หรือเท่ากับค่าซื้อสินค้าหรือบริการรวม VAT สูงสุด 21,400 บาทต่อคน

ซึ่งตั้งแต่วันที่ 7-15 ก.พ. 2562 มีประชาชนสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ ผ่าน www.epayment.go.th ทั้งสิ้น 34,865 ราย มีร้านค้าเข้าร่วมตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 2561-31 ม.ค. 2562 จำนวน 213 ราย หรือรวมทั้งสิ้น 19,551 สาขาทั่วประเทศ

อย่างไรก็ดี พบว่า ผู้ลงทะเบียน ที่ซื้อสินค้าและบริการมีเพียง 6,466 ราย โดยชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการเป็นจำนวนทั้งสิ้น 12,740 รายการ คิดเป็นมูลค่าสินค้าและบริการ รวม VAT ที่ 16,238,174 บาท คิดเป็น VAT ที่ 915,861 บาท ทำให้ยอดเงินชดเชยที่รัฐต้องจ่ายคืนอยู่ที่ 654,186 บาท

ถือว่าต่ำกว่ากรอบงบประมาณที่ประเมินไว้ว่าจะต้องใช้ราว 9,240 ล้านบาท

กระทรวงการคลังวิเคราะห์ว่า การที่มีผู้ลงทะเบียนซื้อสินค้าและบริการแค่ 18.55% ของผู้ลงทะเบียนทั้งหมดนั้น เนื่องจากการชำระเงินผ่าน “บัตรเดบิต” และ “คิวอาร์โค้ด” อาจไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนที่นิยมทำผ่าน “บัตรเครดิต” ที่มีแรงจูงใจมากกว่า ทั้งในแง่ส่วนลด การสะสมคะแนน และการผ่อนชำระ

ที่สำคัญยังพบว่า ประชาชนมีความกังวลในเรื่อง “การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล” และ “ข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน”

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังเห็นว่า มาตรการดังกล่าวมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภค และการรับชำระเงินของผู้ประกอบการจาก “ระบบเงินสด” ไปสู่ “ระบบอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการ ธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) พัฒนาระบบมารองรับ โดยจะต้องปรับปรุงรูปแบบการให้บริการการชำระเงินและการรับชำระเงินเป็นระบบเปิด (open-loop system) ที่สามารถใช้ร่วมกันได้

ซึ่งการดำเนินมาตรการลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี เพราะจะจูงใจให้ผู้ประกอบการ ธนาคาร และอีมันนี่ มีการลงทุนพัฒนาระบบ ขณะที่ภาครัฐจะมีข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี รวมถึงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ลดต้นทุนผู้เสียภาษี และต้นทุนการเก็บภาษีของรัฐ

“มาตรการลักษณะนี้อาจจะนำไปมาใช้พร้อมกับการยกเลิกการยกเว้นภาษี VAT สำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ระบบภาษีมีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายและการกำหนดนโยบายของภาครัฐ ที่จะสามารถนำภาษีมาจ่ายเงินคืนให้กับผู้ที่สมควรได้รับประโยชน์ หรือกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด รวมถึงพัฒนาระบบให้สามารถแยกประเภทสินค้าที่รัฐต้องการส่งเสริมในแต่ละช่วงเวลาได้”

แหล่งข่าวจากกระทรวงคลัง กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เห็นว่าควรดำเนินมาตรการดังกล่าวต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไป แต่ต้องปรับปรุงในรายละเอียดมากขึ้น เพื่อต่อยอด เพราะจะเป็นการผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน “ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์” และ “ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์” อย่างเป็นรูปธรรมสูงสุด

“มาตรการจะมุ่งสู่การกำหนดเงื่อนไข เช่น จะต้องจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (รวมถึงบัตรเครดิต) ซื้อสินค้าและบริการกับผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT โดยผู้ประกอบการ ต้องมีระบบ POS ช่วยเก็บบันทึกการขาย ยอดขาย จำนวน VAT ที่แยกออกจากราคาสินค้าและบริการ รายละเอียดสินค้า พิมพ์ใบกำกับภาษี และต้องรับและส่งข้อมูลจำนวน VAT ในแต่ละรายการที่รับชำระค่าสินค้าและบริการได้แบบ real-time รวมถึงต้องพัฒนาระบบให้สามารถแยกประเภทสินค้าที่รัฐต้องการจะส่งเสริมในแต่ละช่วงเวลาได้ เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีอากรและประสิทธิภาพในการใช้จ่ายของภาครัฐต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่ “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ได้ให้นโยบายผู้บริหารสรรพากรทั่วประเทศขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัลอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง โดยขณะนี้กำลังพัฒนาระบบการออกใบกำกับภาษี/ใบเสร็จภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice/e-Receipt) ซึ่งผู้ประกอบการที่ลงทุนพัฒนาระบบ e-Tax invoice/e-Receipt รวมถึงระบบ POS และระบบการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding tax) สามารถนำรายจ่ายจากการลงทุนดังกล่าวมาหักภาษีได้ 2 เท่า ขณะที่ล่าสุด ก็มีบริการอากรแสตมป์สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Stamp) เริ่มใช้ตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป

“กรมจะยึดหลักการว่า หากใครเข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์จะถือว่าเป็นผู้ประกอบการที่ดี ไม่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่กรมจะต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้น ซึ่งในกรณีกลุ่มเสี่ยงนั้นหากตรวจสอบแล้วพบว่า เสียภาษีไม่ถูกต้อง ก็จะถูกเรียกเก็บภาษีที่ขาด พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวมถึงหากมีการใช้ใบกำกับภาษีปลอม ก็ยังต้องถูกดำเนินคดีทางอาญาอีกด้วย” อธิบดีกรมสรรพากรระบุ

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่า “แต๊ะเอียช่วยชาติ” จะดูไม่ค่อยเวิร์กนักในแง่ผลการดำเนินงาน แต่กระทรวงการคลังและกรมสรรพากรก็ปักธงชัดเจนแล้วว่า ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คือ คำตอบที่จะช่วยให้เก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นในระยะข้างหน้า