ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังสหรัฐเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรดีเกินคาด

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 85 กรกฎาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/7) ที่ระดับ 30.75/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (5/7) ที่ระดับ 30.64/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 224,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดารณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 165,000 ตำแหน่ง หลังขยายตัวเพียง 72,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค. ส่วนอัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. ขยับขึ้นสู่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.6%

นอกจากนี้ตลาดการเงินจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีกำหนดแถลงต่อสภาคองเกรสในวันพุธและวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อหาสัญญาณทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด

สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารโลก (World Bank) เปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุด โดยระบุว่า ช่วงต้นปี 2562 เศรษฐกิจไทยเริ่มเติบโตช้าลงท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวลง โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะชะลอการเติบโตลงมาอยู่ที่ 3.5% จากปีก่อนที่เติบโต 4.1% ขณะที่การส่งออกไทยหดตัวเหลือ 4% ในไตรมาสแรกของปี 2562 นับเป็นการหดตัวไตรมาสแรกในรอบ 3 ปี ด้านการลงทุนของภาคเอกชนและการบริโภคของครัวเรือน ยังคงเติบโตใกล้เคียงกับระดับสูงสุดที่เคยมีมาในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับปัจจัยด้านบวกจากอัตราเงินเฟ้อต่ำ การเพิ่มการจ้างงาน และการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อมาใช้ดำเนินการ นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะเติบโตได้ 3.6% จากเดิมคาด 3.9% และขยายตัว 3.7% ในปี 2564 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.75-30.82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (8/7) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1224/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (5/7) ที่ระดับ 1.1263/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติของรัฐบาลกลางเยอรมนีรายงานว่ายอดส่งออกในเดือน พ.ค.ปรับขึ้น 1.1% เมื่อเทียบรายเดือนส่วนยอดนำเข้าในเดือน พ.ค.ปรับลง 0.5% ทำให้ยอดเกินดุลการค้าของเยอรมนีปรับขึ้นสู่ 1.87 หมื่นล้านยูโร (2.099 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือน พ.ค. จาก 1.69 หมื่นล้านยูโรในเดือน เม.ย. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1219-1.1232 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1228/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (8/7) เปิดตลาดที่ระดับ 108.50/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (5/7) ที่ระดับ 108.01/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานปรับตัวลง 7.8% ในเดือน พ.ค. สู่ระดับ 8.429 แสนนล้านเยน หรือประมาณ 7.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นปรับตัวลง 15.8% ในเดือน พ.ค.เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 1.59 ล้านล้านเยน (1.465 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากมียอดส่งออกไปจีนลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากข้อพิพาทการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.29-108.58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.39/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือน มิ.ย.จากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) (9/7) สต๊อกสิค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือน พ.ค. (10/7) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมว่าที่ 18-19 มิ.ย. (10/7) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (11/7) อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. (11/7) ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน มิ.ย. (12/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.7/-2.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.25/-1.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ