“ดร.วิน” KTBST เปิดใจ แผนครึ่งปีหลัง-รุกโซเชียลเทรด

สัมภาษณ์

เข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลังแล้ว ท่ามกลางความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงไทยที่มีขึ้นและลงรวดเร็ว ผ่านปัจจัยรอบด้านที่มักมาเหนือคาด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST ถึงแผนรุกธุรกิจหลักทรัพย์ในครึ่งปีหลัง และเทรนด์บริการของแพลตฟอร์มบนโลกดิจิทัล ดังนี้

Q2 รักษาการเติบโตต่อเนื่อง

ดร.วินกล่าวอย่างมั่นใจว่า ทิศทางผลประกอบการบริษัทในไตรมาส 2/62 จะสามารถรักษาระดับการเติบโตได้ต่อเนื่อง แม้ว่าธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (brokerage) จะได้รับผลกระทบจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ (วอลุ่ม) ที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่บริษัทยังทำรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ธุรกิจอื่น ๆ เช่น งานวาณิชธนกิจ งานตัวแทนนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน งานบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล (wealth) เป็นต้น และล่าสุดได้เปิด “บลจ.วี” ดำเนินการเต็มรูปแบบในไตรมาส 2 แล้ว ซึ่งออกกองทุนใหม่ 7 กอง รวมมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ราว 3 พันล้านบาท (ณ 28 มิ.ย. 62)

“เราโชคดีที่ไม่ได้มีการปรับลดค่าคอมมิสชั่นลงเยอะ ซึ่งเท่าที่ทราบค่าคอมฯของอุตสาหกรรมเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 0.09% ถือว่าต่ำมาก ส่วนของ KTBST ค่าคอมฯสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมนี้ เราจึงไม่ได้รับผลกระทบ โดยมาร์เก็ตแชร์เราอยู่ที่ราว 1% อีกอย่างเรามีธุรกิจอื่นมาช่วย”

ทั้งนี้ KTBST มีสัดส่วนรายได้จากค่าคอมมิสชั่นโบรกเกอเรจอยู่ที่ 30-40% ของรายได้รวม และรายได้ค่าฟีวาณิชธนกิจ 40% ที่เหลือ 20% เป็นรายได้บริการอื่น ๆ โดยสิ้นไตรมาส 1/62 บริษัทมีรายได้รวม 322 ล้านบาท และกำไรสุทธิราว 23.7 ล้านบาท

งัดแผนบุกครึ่งปีหลัง

สำหรับแผนเพิ่มการเติบโต “ดร.วิน” ระบุว่า บริษัททำทุกด้านอยู่แล้ว โดยค่อย ๆ พัฒนาไป และที่ผ่านมาได้ลงทุนระบบเทคโนโลยีค่อนข้างมาก เพื่อพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ล่าสุดเปิดให้บริการ KTBST โซเชียลเทรดดิ้ง เป็นรายแรกในไทย ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่รองรับการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านแอป SKYNET Stock Trading โดยทำเพื่อรองรับอนาคต และหวังผลในมุมให้ความรู้ ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าเปิดบัญชีหุ้นรวมราว 26,000 บัญชี แอ็กทีฟราว 7-8 พันบัญชี (ข้อมูล ณ 20 มิ.ย.)

โมเดล SKYNET จะเป็นการซื้อขายที่เกิดขึ้นจริง เมื่อไหร่ที่มีการเทรดบนแพลตฟอร์มนี้ จะมีการเก็บข้อมูลและโชว์ว่า ซื้อ-ขายอะไร ผลจากการลงทุนเป็นอย่างไร โดยคนที่เข้ามาใช้ SKYNET จะเสียแค่ค่าคอมมิสชั่นให้โบรกฯ ซึ่งโซเชียลเทรดดิ้ง ผู้ลงทุนจะติดตามได้จริง เห็นข้อมูลจริง ตัดสินใจเองจริง และคนที่เป็น master ก็เก่งจริง ผมเชื่อว่าจะทำให้ทุกคนมีโอกาสอยู่ในตลาดได้นานขึ้น โดยเราคาดหวังจะเห็นลูกค้ารายใหม่เข้ามามากขึ้น และเป็นลูกค้ารายเล็กด้วย

ส่วนแอป KTBST SMART ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอปนี้แล้วกว่า 1,500 ดาวน์โหลด จะมีการพัฒนาไปสู่จุดที่ใช้ NDID (National Digital ID) หรือระบบพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะนำ e-KYC มาให้บริการลูกค้าเปิดบัญชีได้บนแอป ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบระบบอยู่ โดยคาดเริ่มบริการได้ราวต้นปีหน้า รวมทั้งจะต่อยอดบริการอื่น ๆ มีโปรดักต์ลงทุนอื่น ๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ กองทุน หรือจะไปลงทุนต่างประเทศก็ได้

“ดร.วิน” บอกอีกว่า ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าเทรดออนไลน์ 50% ถือว่าเป็นโบรกฯที่มีลูกค้าออนไลน์ไม่ได้มาก แถมยังค่อย ๆ ลดลง จากเมื่อก่อนมีถึงสัดส่วน 60% โดยสาเหตุคือผู้ลงทุนเริ่มย้ายไปใช้แพลตฟอร์มที่ยากขึ้น เช่น MT4 (ระบบเทรด TFEX) และ MT5 (ระบบเทรดหุ้น) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ต้องใช้มาร์เก็ตติ้ง และผู้ลงทุนสามารถทำเงิน (กำไร) ได้มากกว่า

ปัจจุบันลูกค้าที่อยู่กับบริษัทจะเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับบริษัทมากขึ้น ไม่ได้แห่ไปหาโบรกฯที่ลดค่าคอมฯ ด้านงานวิจัยบทวิเคราะห์ก็ดีขึ้น ลูกค้าสถาบันก็เพิ่มขึ้น เช่น กองทุนรวม เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทเตรียมจับมือกับพันธมิตรสิงคโปร์ “Haitong International Securities Group (Singapore)” ให้บริการไปลงทุนในประเทศจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้จับมือกับพันธมิตรฟิลิปปินส์ “Unicapital Group” ในธุรกิจด้านวาณิชธนกิจและโบรกเกอร์ เมื่อปลายปีที่แล้ว

สำหรับเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ “ดร.วิน” คาดว่า รายได้รวมจะอยู่ที่ 1,300-1,400 ล้านบาท เติบโต 26% ตามแผนที่เน้นขยายธุรกิจให้มีความหลากหลาย โดยธุรกิจ wealth มีสินทรัพย์ภายใต้การแนะนำ (AUA) อยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล ตั้งเป้า AUM 3 พันล้านบาท ขยายตัว 50% ธุรกิจตัวแทนนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ตั้งเป้า AUA ที่ระดับ 2 หมื่นล้านบาท โต 100% ด้าน บลจ.วี ตั้งเป้าสิ้นปีนี้ AUM แตะ 6 พันล้านบาท และเคทีบีเอสมี รีทส์ แมเนจเม้นท์ ตั้งเป้ากองรีท 3 กองทุน มูลค่ารวม 6 พันล้านบาท

เลื่อนเข้าตลาดหุ้น

ส่วนกรณี KTBST เข้าตลาดหุ้นช้ากว่าแผนนั้น “ดร.วิน” แจกแจงว่า หลังจากที่ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว ยังมีสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุง เนื่องจากธุรกิจค่อนข้างซับซ้อนและมีผลิตภัณฑ์เยอะ ดังนั้น จึงคาดว่าจะเลื่อนการระดมทุนล่าช้ากว่ากำหนดประมาณครึ่งปี

“เราอยากมีเงินลงทุนราว 150-200 ล้านบาท ตามแผนธุรกิจของเราก็เข้าเป้า และทำกำไรดีขึ้นได้ ทุนก็จะหนาขึ้น ขณะที่ผู้ถือหุ้นฝั่งเกาหลี ก็อยากให้เราทำสำเร็จ จะได้เป็นหน้าเป็นตา มากกว่าที่จะเน้นเรื่องเงิน นอกจากนี้ เราทำธุรกิจเกี่ยวกับพาบริษัทเข้าจดทะเบียน เราก็ควรเข้าใจความรู้สึกนี้ด้วย ซึ่งเราต้องเข้าไปอยู่หมวดหลักทรัพย์ คือเอาหน้าตามากกว่า และการเข้าตลาดหุ้นไม่ได้จะขายหุ้นที่ถืออยู่ออก เพราะผมได้ล็อกไว้ 2 ปี ตามที่แจ้งในไฟลิ่ง ส่วนผู้ถือหุ้นรายอื่น หรือลูกค้าที่ให้เงินกู้ ก็เปิดเผยชื่อหมดทุกคนบนไฟลิ่งอยู่แล้ว” ดร.วินกล่าวทิ้งท้าย