บาทผันผวน จากถ้อยแถลงประธานเฟด และมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์นี้เปิดตลาดในวันจันทร์ (8/7) ที่ระดับ 30.75/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (5/7) ที่ 30.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงหลังจากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจเชิงบวกของสหรัฐ คือ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 224,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน ซึ่งมากกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 162,000 ตำแหน่ง จากระดับ 72,000 ตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า ส่งผลทำให้มีแรงซื้อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นสัปดาห์ แม้ว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.7% ในเดือนมิถุนายน จาก 3.6% ในเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมีน้ยยะสำคัญ ภายหลังจากที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ แถลงการณ์ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมีใจความสำคัญที่แสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กล่าวคือเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และประเทศคู่ค้าต่าง ๆ และเศรษฐกิจที่ถดถอยของประเทศต่าง ๆ ซึ่งส่งผลทำให้มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้เร็วสุดในการประชุมครั้งหน้าที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30-31 กรกฎาคม โดยคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.25% ในการประชุมครั้งที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจเชิงบวกของสหรัฐ คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่ขยายตัว 0.3% ในเดือนมิถุนายน มากกว่าการคาดการณ์ของตลาดว่าจะขยายตัว 0.2% และจากการขยายตัวนี้เองทำให้เมื่อเทียบรายปีดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.1% ในเดือนมิถุนายนจากระดับ 2% ในเดือนก่อนหน้า

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น คือ การปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยลดยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-Resident : NR) ทั้ง Non-Resident Baht Account (NRBA) และ Non-Resident Baht Account for Securities (NRBS) ณ สิ้นวัน จากเดิม 300 ล้านบาทเป็น 200 ล้านบาทต่อราย NR เพื่อลดช่องทางการพักเงินระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ

นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังเพิ่มความเข้มงวดการรายงานข้อมูลยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อให้สามารถติดตามพฤติกรรมการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์แนวโน้มและกำหนดนโยบายหรือมาตรการ เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในระยะต่อไป โดยธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าววา ตลาดการเงินในปัจจุบันมีความผันผวนจากปัจจัยความไม่แน่นอนต่าง ๆ เช่น สงครามการค้าของสหรับ และประเทศคู่ค้า และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และนโยบายผ่อนคลายการเงินของประเทศต่าง ๆ ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าสู่ประเทศเกิดใหม่อย่างมาก โดยนักลงทุนต่างชาตินั้นยังมีมุมมองเชิงบวกต่อค่าเงินบาท จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติเพิ่มการถือครองเงินบาทและมีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเพิ่มมากขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทยมีความกังวลสำหรับค่าเงินบาทที่มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมากและรวดเร็วเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม จึงได้มีการออกมาตรการดังกล่าวมาควบคุม โดยค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.55-30.92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (12/7) ที่ระดับ 30.84/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ที่ (8/7) ที่ระดับ 1.1226/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากระดับปิดตลาดวันศุกร์ (5/7) ที่ 1.1279/82 ที่ (1.1279/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโรค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเนื่องจากการแข็งค่าของค่เางินดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจเชิงบวกคือ ยอดส่งออกในเดือนพฤษภาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบรายเดือน ส่วนยอดนำเข้าในเดือนพฤษภาคมปรับลง 0.5% ทำให้ยอดเกินดุลการค้าของเยอรมนีปรับขึ้นสู่ 1.87 หมื่นล้านยูโร (2.099 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนพฤษภาคมจาก 1.69 หมื่นล้านยูโรในเดือนเมษายน นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น 2.1% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% ในเดือนพฤษภาคม ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี ประจำเดือนมิถุนายน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเปรียบเทียบรายเดือนเท่ากับระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และของฝรั่งเศสปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเปรียบเทียบรายเดือน เท่ากับระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เช่นกัน

อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในยูโรโซนดิ่งลงในเดือนกรกฎาคมแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 โดยปรับตัวลงสู่ระดับ -5.8 จากระดับ -3.3 ในเดือนมิถุนายน และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ +0.1 การดิ่งลงของดัชนีได้รับผลกระทบจากการที่นักลงทุนมีความมวิตกเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แม้ว่ามีสัญญาณบวกจากการดีดตัวขึ้นของตลาดหุ้น ในสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง  1.1192-1.1285 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (12/7) ที่ระดับ 1.1262/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ที่ (8/7) ที่ระดับ 108.46/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับปิดตลาดวันศุกร์ (5/7) ที่ 108.02/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และยังคงมีแรงเข้าซื้อค่าเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญเชิงลบคือ ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานปรับตัวลง 7.8% ในเดือนพฤษภาคมสู่ระดับ 8.49 แสนล้านเยน หรือประมาณ 7.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นปรับตัวลง 15.8% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 1.59 ล้านล้านเยน (1.465 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากมียอดส่งออกไปจีนลดลง ซึ่งเป็นผมลลมาจากข้อพิพาทการค้าระหว่างจีนและสหรัฐสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 107.85-108.98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์  (5/7) ที่ระดับ 108.34/38 เยน/ดอลลาร์