“รื่นวดี” ข้อต่อรัฐ-เอกชน รับโจทย์ดัน “LTF-กบช.-พรบ.ทรัสต์”

สัมภาษณ์พิเศษ

คัมแบ็กกลับมาทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กว่า 2 เดือน “รื่นวดี สุวรรณมงคล” ในฐานะเลขาธิการหญิงคนแรก มีหลายภารกิจที่ต้องผลักดัน โดยฉายภาพผ่านสัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ดังนี้

“รื่นวดี” เล่าว่า ขณะนี้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) เดินมาได้ครึ่งทางแล้ว ซึ่งก็มีหลายส่วนที่ ก.ล.ต.ทำไปเกือบสำเร็จแล้ว บางเรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการ และบางเรื่องที่อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องทำแล้ว ดังนั้น หลังจากนี้จะมีการทบทวน และมองโจทย์ในกรอบใหม่ โดยทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แต่เป้าหมาย 4 ด้าน ที่มีการตั้งไว้เดิม คือ “เข้าถึง-แข่งได้-เชื่อมโยง-ยั่งยืน” ยังจำเป็นอยู่

ที่ผ่านมา ได้ขออนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต. แต่งตั้งอนุกรรมการพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันของตลาดทุนไทย โดยเชิญนายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.มาเป็นประธาน มาดูโจทย์ด้านการแข่งขัน และยกระดับตลาดทุนไทย ซึ่งด้วยประสบการณ์ น่าจะนำไปสู่การปรับปรุงแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ที่จะเห็นได้ว่าโจทย์ใหม่คืออะไร

14 ส.ค.ตั้งบอร์ด ตลท.เสร็จ

สำหรับสิ่งเร่งด่วนที่ต้องทำตอนนี้ “รื่นวดี” บอกว่า ต้องเร่งสรรหาคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตามกรอบที่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่วางไว้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการสรรหา ซึ่งตามกฎหมายใหม่ ก.ล.ต.สรรหา 6 ราย ส่วนอีก 4 ราย โบรกเกอร์เสนอ

“การสรรหากรรมการ ตลท. ซึ่งจะได้ภายในวันที่ 14 ส.ค.นี้ โดยกรรมการเหล่านี้จะอยู่ได้ 2 เทอม และคนที่เป็นกรรมการ เทอมที่ 2 อยู่ในปัจจุบัน หากผ่านกระบวนการและได้รับคัดเลือกเข้ามาอีก ก็จะได้อีก 1 เทอม”

รับโจทย์ “สมคิด” 2 เรื่องใหญ่

“รื่นวดี” กล่าวว่า ล่าสุดเพิ่งได้รับโจทย์จากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้ผลักดัน 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก จัดการขบวนการ “ปั่นหุ้น” โดยขณะนี้ ก.ล.ต.ได้ประสานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อทำคดีรูปแบบใหม่ คือ เชิญทั้ง 2 หน่วยงานมาทำคดีร่วมกับ ก.ล.ต.ตั้งแต่วันแรก ซึ่งจะลดขั้นตอนได้มหาศาล ไม่ต้องไปเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นสอบสวนใหม่ พร้อมกันนี้จะกำหนดกรอบเวลาในการทำแต่ละคดีให้ชัดเจน รวมถึงการร่วมมือกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นำหลักนิติวิทยาศาสตร์มาช่วยเรื่องการทำให้หลักฐานต่าง ๆ มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

“เราเริ่มทำคดีตามกระบวนการใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2562 เป็นต้นไป เป็นการเปลี่ยนวิธี อย่างน้อยก็ช่วยลดขั้นตอน ลดเวลา มีความเห็นชอบร่วมกัน การเดินหน้าก็จะไปในทิศทางเดียวกัน แล้วจะหมดข้อถกเถียง ว่าตกลงสำนวนอ่อนไปตรงจุดไหน”

“รื่นวดี” บอกด้วยว่า ในระยะยาวต้องถามว่า คน ก.ล.ต.ต้องการจะทำหน้าที่พนักงานสอบสวนคดีเองหรือไม่ โดยหากจะทำ ก็ต้องศึกษาให้ตกผลึกก่อน

ส่วนอีกเรื่องที่รับโจทย์มา ก็คือ การช่วยให้ “เอสเอ็มอี” มีช่องทางในการระดมทุนในตลาดทุน โดยเฉพาะคนตัวเล็ก ๆ หรือสตาร์ตอัพ ซึ่งจะพิจารณาปลดล็อกกฎเกณฑ์บางอย่าง อย่างการกำหนดว่าต้องมีกำไรต่อเนื่อง 3 ปี หากเป็นสตาร์ตอัพก็อาจจะแค่ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี รวมถึงได้หารือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ได้คัดเลือกเอสเอ็มอีเกษตรกว่า 1 หมื่นรายมาให้พิจารณา พร้อมร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม

“รื่นวดี” กล่าวว่า ยังมีโครงการคาราวาน ก.ล.ต.สู่พื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อสร้างการเข้าถึงตลาดทุนมากขึ้น โดยที่ผ่านมาได้เริ่มนำร่องที่ จ.ขอนแก่นไปแล้ว

ส่วนการคุ้มครองผู้ลงทุน ก็จะมีการยกระดับมากขึ้น ทั้งการเปิดให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง การสนับสนุนสมาคมผู้ส่งเสริมผู้ลงทุนไทยให้มีบทบาทคุ้มครองผู้ลงทุน การกำกับดูแลผู้สอบบัญชี และศึกษาปรับปรุงกฎหมายเพื่อกำกับสำนักงานสอบบัญชี การศึกษาการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุน การจัดตั้งวอร์รูมเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนในด้านสินทรัพย์ดิจิทัล และการจัดทำโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน

รับลูกเอกชนต่อท่อรัฐบาล

เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ช่วงนี้ ก.ล.ต.คงต้องรอรับนโยบายรัฐบาลใหม่ด้วย ว่าโจทย์จะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันข้อเสนอจากภาคเอกชนสมาคมต่าง ๆ ที่ขอให้ช่วยผลักดัน ซึ่งทาง ก.ล.ต.ได้นำคณะไปพบกับผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มาแล้ว

“ก็นำโจทย์ที่สมาคมต่าง ๆ ที่เข้ามาหาเรา ไปเล่าให้ สศค.ฟัง อย่างเรื่องกองทุน LTF (กองทุนรวมหุ้นระยะยาว) ถ้าหมดอายุแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งเราก็ส่งท่าทีของเราไป แนวก็คล้าย ๆ กัน ก็จะต้องทำสะพานเชื่อมให้เสร็จ โดยมุมมองเรื่อง LTF วันนี้สะเด็ดน้ำไปได้ระดับหนึ่ง คือ ต้องลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทำให้คนหนึ่งได้ ต้องทำให้คนมีความใกล้เคียงกันในระดับหนึ่ง และการลงทุนต้องอยู่ในเซ็กเมนต์ที่เป็นประโยชน์กับภาษีที่เขาจะให้มา แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องรอฟังคำตอบจากทาง สศค.”

นอกจากนี้ ยังมีทางสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ขอให้ช่วยผลักดันกฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นภาคบังคับ รวมถึงกฎหมายทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล ที่ยังไม่ผ่านออกมาบังคับใช้

ทั้งโจทย์จากรัฐบาลและเอกชน ทั้งหมดนี้ คือ ภารกิจที่เลขาธิการ ก.ล.ต.หญิงคนแรกจะเร่งผลักดัน