ค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบแคบ หลัง ธปท.ออกมาตรการควบคุมค่าเงินบาท

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/7) ที่ระดับ 30.92/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (12/7) ที่ระดับ 30.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโกกล่าวว่า เฟดควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อจะหนุนอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ให้เข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% และเพื่อทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ผู้กำหนดนโยบายมีความตั้งใจจริงในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ ทั้งนี้เฟดมีกำหนดจะจัดประชุมในวันที่ 30-31 ก.ค. และนักลงทุนหลายรายคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25% ในการประชุมนี้

นอกจากนี้ตลาดยังจับตาการประชุมของรัฐมนตรีคลังกับผู้นำธนาคารกลางของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 (จี-7) ในวันที่ 17-18 ก.ค. ซึ่งคาดว่าที่ประชุมจี-7 จะหารือกันเรื่องปัญหาเศรษฐกิจโลก, ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ, อัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรมระหว่างประเทศสำคัญ, คำขู่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐในการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ยุโรป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.86-30.94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.86/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการปรับหลักเกณฑ์มาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนของยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (NR) ทั้ง Non-resident Baht Account For Securities (NRBS) และบัญชี Non-resudebt Baht Account (NRBA) ที่เปิดไว้กับสถาบันการเงินในประเทศไทยเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงิน และเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ ทั่วไป เช่น การชำระค่าสินค้าและบริการ โดยปรับเกณฑ์ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชี NRBS และ NRBA ให้ลดลง จากเดิมกำหนดไว้ที่ 300 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาทต่อราย NR ต่อประเภทบัญชี ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. 2562

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (15/7) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1271/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/7) ที่ระดับ 1.1257/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยนายอิกนาซิโอ
วิสโก ผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลี และกรรมการบริหารของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่า ECB จะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หากเศรษฐกิจยูโรโซนยังคงไม่ฟื้นตัวขึื้น นายวิสโกกล่าวว่า กรรมการ ECB จะพิจารณาทางเลือกในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ท่ามกลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และคาดการณ์เงินเฟ้อในระดับต่ำ คำกล่าวของนายวิสโกทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ECB จะผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 25 ก.ค. หรือในการประชุมเดือน ก.ย. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1265–1.1283 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1272/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (15/7) เปิดตลาดที่ระดับ 107.85/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมืื่อวันศุกร์ (12/7) ที่ระดับ  108.40/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนแกว่งตัวในกรอบแคบเนื่องจากตลาดหยุดทำการ ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.81-108.10
เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.86/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือน ก.ค. จากเฟดนิวยอร์ก (15/7) ยอดค้าปลีกเดือน มิ.ย. (16/7) ราคานำเข้าและส่งออกเดือน มิ.ย. (16/7) การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. (16/7) รายงานสรุปภาวะศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) 17/7) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (18/7) ดัชนีการผลิตเดือน ก.ค. จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (18/7) ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. จาก Conference Board (18/7) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (19/7)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.9/-2.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.25/-1.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ