เปิดกองทุนใหม่ดูด 2.7 หมื่นล. “มอร์นิ่งสตาร์” ชี้ครึ่งปีแรกเทอมฟันด์ฮอต

“มอร์นิ่งสตาร์” เผยครึ่งปีแรกมีกองทุนรวมออกใหม่ 327 กองทุน ดูดเงินไหลเข้าอุตฯกองทุนรวมไทยกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท “บลจ.กสิกรไทย” งัดแผนออกกองทุนล้อเทรนด์ระยะยาว “เมืองขยายตัว-เทคโนโลยี-ทรัพยากร-ประชากรโลก” ตั้งเป้า AUM ปี’62 เติบโต 8% ฟาก “บลจ.บัวหลวง” ชี้ช่องลงทุนกองทุนรวม “อสังหาฯ-รีท-อินฟราฟันด์” ให้ผลตอบแทนสูง 6-7% สู้ดอกเบี้ยขาลง

นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 62) มีกองทุนรวมเปิดใหม่ 327 กอง เป็นกองทุนที่มีกำหนดอายุโครงการ (term fund) 242 กอง คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.7 หมื่นล้านบาท ตามด้วยกลุ่มกองทุนผสมแบบยืดหยุ่นซึ่งไม่กำหนดสัดส่วนการลงทุน (aggressive allocation) 8 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1 หมื่นล้านบาท

“นับตั้งแต่ปี 2561 มา เราเห็นเทรนด์การออกเทอมฟันด์ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเทอมฟันด์ที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีการกำหนดอัตราผลตอบแทนแบบคงที่ไว้ แม้ว่าผลตอบแทนที่ได้จะไม่หวือหวานัก แต่ความเสี่ยงจากการลงทุนก็มีต่ำเช่นกัน โดยส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากการที่เทอมฟันด์บางส่วนครบรอบอายุกองทุน ส่งผลให้ บลจ.ต่างออกเทอมฟันด์ใหม่เพิ่มเพื่อโยกเงินจากเทอมฟันด์เดิมมาไว้ที่เทอมฟันด์ใหม่”

ขณะที่กองทุนรวมที่มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กองทุนรวมตราสารหนี้ที่ลงทุน
ต่างประเทศแบบกำหนดอายุ มูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิที่ 163,354 ล้านบาท 2.กองทุนผสมแบบยืดหยุ่นซึ่งไม่กำหนดสัดส่วนการลงทุน 27,981 ล้านบาท 3.กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะกลาง/ยาว 14,592 ล้านบาท 4.กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ 14,419 ล้านบาท และ 5.กองทุนที่ลงทุนต่างประเทศและไม่เข้าเกณฑ์กลุ่มอื่น 11,635 ล้านบาท

ส่วนกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด ได้แก่ 1.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ 20.92% 2.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ 14.74% 3.กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานต่างประเทศ 14.55% 4.กองทุนรวมหุ้นใหญ่ 10.31% และ 5.กองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์โลหะมีค่า 6.39%

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมกองทุนรวมเติบโตที่ 6-7% จากมูลค่ารวมช่วงปลายปี 2561 ที่ 4.9 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 5.3 ล้านล้านบาท โดยมีเม็ดเงินใหม่ เข้ามาในอุตสาหกรรมทั้งกองเก่าและกองใหม่สุทธิประมาณ 8 หมื่นล้านบาท (net inflow)

“ณ สิ้นปี 2562 เราคาดว่าอุตสาหกรรมกองทุนรวมน่าจะเติบโตที่ประมาณ 8% เนื่องจากราคากองทุนที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันอยู่ที่ระดับศักยภาพที่เราเคยประเมินเอาไว้  ซึ่งไม่น่าจะขยับขึ้นไปได้มากกว่านี้แล้ว แม้ว่าเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) จะมีทิศทางลดดอกเบี้ยก็ตาม แต่ในระยะถัดไปเรื่องของเศรษฐกิจชะลอตัวก็ยังเป็นสิ่งที่เข้ามากระทบอยู่ดี ส่วนในครึ่งหลังคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาประมาณ 3-5 หมื่นล้านบาท จาก LTF และ RMF ที่เข้ามา” นายวศินกล่าว

ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทยตั้งเป้ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) ปี 2562 เติบโตในระดับเดียวกับการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ 8% โดยไม่ได้มุ่งเน้นว่าแต่ละปีจะต้องออกกองทุนใหม่จำนวนเท่าไหร่ เน้นการออกกองทุนที่เป็นเทรนด์ลงทุนระยะยาว

นายพรชลิต พลอยกระจ่าง รองกรรมการผู้จัดการ Head of Real Estate & Infrastructure Investment บลจ. บัวหลวง (BBLAM) กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ รีท (REIT) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานคาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6-7% เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.5% และสูงกว่าเมื่อเทียบกับเงินปันผลจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดเฉลี่ยที่ 3-4%

“ในการประชุมครั้งต่อไปของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจเห็นการลดดอกเบี้ยลง 1 ครั้ง ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้กองทุนรวมอสังหาฯรีท และอินฟราฟันด์ที่ผลตอบแทนค่อนข้างดี”