ประกันรถดิ้น “ตัดพอร์ตขาดทุน” “วิริยะ-MSIG” ปรับขึ้นเบี้ยกลุ่มเสี่ยง 5-15%

ภาพ Pixabay
เทรนด์ครึ่งปีหลัง ธุรกิจประกันภัยรถยนต์แห่ “ปรับขึ้นเบี้ย-เลิกต่ออายุ” หวัง “คัตลอส” ผลขาดทุนจากกลุ่มรถที่มีเคลมสูง “วิริยะประกันภัย” ทยอยขึ้นเบี้ย 5% กลุ่มรถเล็กเครื่องยนต์ 1,600 ซีซี ชี้เกิดอุบัติเหตุถี่-ซ่อมบ่อยดันลอสเรโชพุ่งเกิน 65% ด้าน “เอ็มเอสไอจี” เดินหน้าขึ้นเบี้ย 10-15% รถกลุ่ม “โลจิสติกส์-ทั่วไป” เสี่ยงสูง พร้อมใช้ไม้แข็งเลิกต่ออายุหากประวัติ 3 ปีย้อนหลัง “ชน-เคลม” ถี่ เผยช่วง 2-3 ปีคัตลอสไปแล้ว 200 ล้านบาท

นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.วิริยะประกันภัย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้พอร์ตประกันรถยนต์ที่อยู่ในเกณฑ์สุ่มเสี่ยงที่ฝ่ายพิจารณารับประกันภัยต้องเข้าไปดูในเชิงลึกเพื่อตัดขาดทุน (คัตลอส) คือ “กลุ่มรถเล็ก” เครื่องยนต์ขนาดไม่เกิน 2,000 ซีซี โดยเฉพาะเครื่องยนต์ขนาด 1,600 ซีซี ที่พบว่า เป็นกลุ่มที่มีความถี่ในการเกิดอุบัติเหตุและซ่อมบ่อยที่สุด โดยมีอัตราความเสียหาย (ลอสเรโช) ค่อนข้างสูง หรือเกิน 65% ทำให้บริษัทต้องเริ่มทยอยปรับขึ้นเบี้ยประกันราว 5% เพื่อให้เหมาะสมตามความเสี่ยง

สยม โรหิตเสถียร

ทั้งนี้ บริษัทกำหนดเพดานลอสเรโชของรถแต่ละรุ่น ว่าไม่ควรเกินกว่า 60% ซึ่งปัจจุบันลอสเรโชรวมของประกันรถยนต์อยู่ที่ 62% สูงกว่าที่กำหนด แต่ภายในสิ้นปีนี้จะพยายามลดลงไม่ให้เกิน 60% โดยบริษัทยังเน้นกลยุทธ์การแข่งขันด้านงานบริการหลังการขายมากกว่าการตัดราคา และช่วงครึ่งปีหลัง คงเน้นพัฒนาระบบงาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าประกันรถที่มีมากกว่า 5 ล้านราย

“ครึ่งปีหลังตลาดประกันรถยนต์อาจจะไม่ได้แข่งขันกันมาก โดยช่วงนี้ค่อนข้างนิ่ง หลังหมดงานมอเตอร์โชว์ ซึ่งคงจะต้องรอ เพราะช่วงนี้เศรษฐกิจทำท่าเหมือนจะดี เห็นจากตลาดหุ้นไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ในแง่ของตลาดรถยนต์อาจจะยังไม่เห็นสัญญาณเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ทั้งปีคาดว่าจะมีเบี้ยประกันรถยนต์กว่า 3 หมื่นล้านบาท เติบโตไม่ต่ำกว่า 4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งช่วง 5 เดือนแรกมีเบี้ยประกันเข้ามาแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท เติบโต 4%” นายสยมกล่าว

นายคงพรรณ คงพินิจ ผู้อำนวยการอาวุโส แผนกสินไหมรถยนต์ บมจ.เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) กล่าวว่า ครึ่งปีหลังนี้บริษัทมีโอกาสจะคัตลอสการรับประกันรถกลุ่มโลจิสติกส์ และกลุ่มทั่วไปที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งอาจจะทยอยปรับขึ้นเบี้ย 10-15% หลังจากก่อนหน้านี้ได้ปรับขึ้นเบี้ยรถป้ายแดงไปแล้ว 5% เพื่อรักษาลอสเรโชรวมของประกันรถยนต์ให้ต่ำลงมา จากช่วงไตรมาส 1 อยู่ที่ 62% ซึ่งปรับขึ้นมาจากปีก่อนที่อยู่ 57% โดยคาดว่าปีนี้บริษัทคงจะไม่ได้เติบโตในธุรกิจประกันรถยนต์มากนัก เพราะลอสเรโชยังสูง บริษัทจึงพยายามเติบโตทางด้านประกันภัยที่ไม่ใช่รถ (น็อนมอเตอร์) และปีนี้จะพยายามรักษาพอร์ตประกันรถยนต์ให้อยู่ที่ 50% ของพอร์ตรวม จากปัจจุบันอยู่ที่ 51% โดยขณะนี้เบี้ยประกันรถยนต์อยู่ที่กว่า 2,000 ล้านบาท มีอัตราการต่ออายุราว 70% จากฐานลูกค้ากว่า 1 แสนราย

“ช่วง 5-6 ปีก่อน บริษัทเริ่มบุกตลาดประกันรถยนต์ และพอเริ่มเห็นผลว่ากำไรจากการทำธุรกิจนี้ทำได้ค่อนข้างยาก บริษัทจึงต้องโฟกัสลูกค้าว่ากลุ่มไหนที่เป็น loss maker (กลุ่มรถที่เกิดความเสียหายมากที่สุด) โดยแยกประเภทลูกค้า ประเภทรถ ที่ชนและเคลมบ่อย ๆ โดยดูประวัติย้อนหลัง 3 ปี ถ้าเป็นลูกค้าต่อเนื่องกันมา หากดีมาตลอด พอปีที่ 3 แย่ ต้องดูว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งยังรับงานต่อได้อยู่ แต่ถ้าพบว่าแย่มาตลอด 3 ปี เราก็อาจจะไม่ต่ออายุ โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทคัตลอสพอร์ตประกันรถที่ไม่ทำกำไรไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท ผสมกันระหว่างประกันรถรายเดี่ยว และประกันรถกลุ่ม fleet (รถที่ใช้ประกอบธุรกิจ) โดยเราจะโฟกัสทุกเดือน ซึ่งลูกค้ากลุ่ม fleet ขณะนี้ผลเคลมอาจจะดีกว่า เพราะเราจัดการได้ตรงและเร็วกว่า” นายคงพรรณกล่าว