ค่าเงินยูโรอ่อนค่า หลังเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/7) ที่ระดับ 30.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (15/7) ที่ระดับ 30.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น หลังจากที่มีการประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจออกมาแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ นอกจากนี้ยังคงได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินยูโรและปอนด์อีกด้วย

โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา (16/7) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนมิถุนายนออกมาสูงขึ้นกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งตัวเลขนี้บ่งชี้ถึงปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่ยังคงอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีการเปิดเผยรายงานตัวเลขการผลิตภาคโรงงานเพิ่มสูงขึ้น 0.4% ในเดือนมิถุนายน โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากการปรับเพิ่มปริมาณการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ถึงแม้ว่าการผลิตโดยรวมของสหรัฐ ยังคงหดตัวลดลง 2.3% ในไตรมาส 2/2019

ส่วนประเด็นด้านสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน สถานการณ์ล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐได้กล่าวในวันอังคาร (16/7) ว่า สหรัฐยังคงมีเรื่องที่ต้องทำอีกมากก่อนที่จะบรรลุข้อตกลงการค้ากับจีนได้ และสหรัฐอาจจะต้องจัดเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนเป็นมูลค่าเพิ่มอีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์ ถ้ารัฐบาลจีนไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้ในเรื่องของจัดซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐ

สำหรับปัจจัยในประเทศนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.พร้อมออกมาตรการเพื่อดูแลค่าเงินบาทเพิ่มเติม หากยังพบว่าค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการปรับหลักเกณฑ์มาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทไปเมื่อวันศุกร์ (12/7) ที่ผ่านมา ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.87-30.93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.90/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (17/7) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1209/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (15/7) ที่ระดับ 1.128/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงหลังจากสถาบัน ZEW เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของนักลงทุนเยอรมนีลดลงมากกว่าช่วงเดือนก่อนหน้าโดยลดลงสู่ระดับ -24.5 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีน และความขัดแย้งในประเทศอิหร่าน

ประกอบกับนักลงทุนมีความคาดหวังว่าทางธนาคารกลางยุโรปจะส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายทางการเงินในการประชุมที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า โดยคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม ไว้ที่ระดับ 0.0% ในการประชุมครั้งนี้และคาดว่าจะมีการส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ย 0.1% ในการประชุมเดือนกันยายน ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1198-1.1217 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1212/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (17/7) เปิดตลาดที่ระดับ 108.26/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (15/7) ที่ระดับ 107.84/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงหลังจากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินสหรัฐ

นักลงทุนกังวลข้อขัดแย้งญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

ในขณะที่นักลงทุนมีความกังวลต่อประเด็นทางด้านการค้าระหว่างประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เนื่องจากการเจรจาระหว่างรัฐบาลเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียว เพื่อคลี่คลายข้อพิพาทกรณีที่ญี่ปุ่นได้ควบคุมการส่งออกนั้นประสบความล้มเหลว หลังจากญี่ปุ่นยืนกรานว่า จะไม่ยกเลิกมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.10-108.32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.23/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CP) เดือนมิถุนายนของยูโรโซน (17/7) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (18/7) ดัชนีการผลิตเดือนกรกฎาคมจากเฟดฟิลาเดลเฟีย (18/7) ดัชนียอดขายค้าปลีกเดือนมิถุนายนของอังกฤษ (18/7) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (19/7) อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนของญี่ปุ่น (19/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.6/2.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.5/0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ