ไทยพาณิชย์คาดหุ้นไทยQ3แตะ 1,750 จุด หวังแรงส่งรัฐกระตุ้นศก. 3 เพิ่ม ลด 1

นายสุกิจ อุดมศิริ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3 ยังได้รับปัจจัยหนุนจากกระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้า และการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น โดยรัฐบาลใหม่จะมีแนวโน้มประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจช่วงปลายเดือนก.ค.นี้ ซึ่งเชื่อว่านโยบายด้านเศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทาง 3 เพิ่ม 1 ลด คือ 1.เพิ่มการลงทุน ได้แก่ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และโครงการโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน 2.เพิ่มรายได้เกษตรกร โดยเพิ่มกำลังซื้อเพื่อลดภาระหนี้ 3.เพิ่มค่าแรงงาน เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ แต่น่าจะดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี และ 4.ลดภาษีในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


“นโยบายด้านเศรษฐกิจจะเป็นผลบวกต่อการบริโภคโดยรวมได้ เพราะปัจจัยที่จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจในปี 62 จำเป็นต้องพึ่งการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดย SCBS คาดการณ์จีดีพีปี 62 ไว้ที่ 3.1% ลดลงจากเดิม 3.3% แต่ถ้าเกิดกรณีเลวร้ายที่สุดประเมินไว้ 3% ถือว่าต่ำสุดแล้ว” นายสุกิจกล่าว

โดยประเมินดัชนี (SET Index) ในช่วงครึ่งปีหลังจะเคลื่อนไหวที่ระดับ 1,700-1,750 จุด แต่มองโอกาสดัชนีจะขึ้นไปแตะที่ระดับ 1,830 ได้ หากสงครามการค้าไม่ยืดเยื้อ ธนาคารกลางสหรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ย และรัฐบาลมีการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาชัดเจน ทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังมองว่าเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงต่ำจากปัจจัยสงครามการค้า และการปรับลดประมาณการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนใกล้สิ้นสุดแล้ว โดยหุ้นที่เป็น Tops Picks ที่แนะนำในไตรมาส 3/62 จะเน้นหุ้นที่เกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์กับปัจจัยในประเทศ จากความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งแนะนำหุ้นกลุ่มธนาคาร ได้แก่ KTB ที่มีกำไรพิเศษจากจากการใช้จ่ายภาครัฐและการฟื้นตัวของสินเชื่อ หุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม รับเหมาก่อสร้าง จะเด่นขึ้นในระยะสั้น ได้แก่ AMATA และ ROJNA ที่ได้รับประโยชน์จากวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ และการเดินหน้าลงทุนโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มค้าปลีก กลุ่มการแพทย์ และกลุ่มท่องเที่ยว ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ในระยะยาวด้วย


นายสาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ที่ปรึกษาด้านการวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น (Estate Planing & Family Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกองทุนรวมที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 20 ส.ค.62 โดยมีผลเฉพาะกับสัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ใหม่หลังกฎหมายใช้บังคับ อาจทำให้ผลตอบแทนรวมของกองทุนอาจลดลง แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะทรัพย์สินภายในกองทุนมีทั้งตราสารหนี้เก่าที่ได้รับการยกเว้นภาษี และตราสารหนี้ใหม่ที่ถูกจัดเก็บภาษี ทำให้กองทุนยังมีเวลาปรับตัวก่อนถึงเวลาที่กฎหมายมีผลบังคับ

โดยมองว่าการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงมาอยู่ที่สูงสุด 10% จากเดิมที่ 35% ซึ่งต่ำกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 20% ทำให้เป็นปัจจัยที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในประเทศให้เพิ่มขึ้น และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับลด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจากปัจจัยภายในประเทศ ในภาวะที่ปัจจัยภายนอกมีความผันผวนและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประกอบกับการเดินหน้าผลักดันการลงทุนและเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำยังเป็นปัจจัยที่จะเข้ามาเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้ผ่านการกระตุ้นโดยใช้นโยบายการเงินและการคลัง

ส่วนกองทุนรูปแบบใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนกองทุน LTF ที่จะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีปลายปี 62 นี้ ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการพิจารณารูปแบบของกองทุนใหม่ที่จะมาทดแทน โดยกองทุนรูปแบบใหม่จะมีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนโดยเน้นรูปแบบการลงทุนที่รัฐบาลสนับสนุน เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและหุ้นยั่งยืน บรรษัทภิบาล หุ้นเอสเอ็มอี และหุ้น S-Curve โดยข้อกำหนดและระยะเวลาการถือครอง รวมถึงจำนวนสูงสุดในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาพิจารณา

นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดใหญ่ Investment Advisory จากหน่วยงาน CIO Office ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปีหลังภาพรวมการลงทุนในต่างประเทศขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลักคือ 1.ภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งขณะนี้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจหลายๆ ประเทศกำลังเติบโตช้าลง และเริ่มมีการปรับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจออกมาจากปัญหาความขัดแย้งทางการค้า ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่ลดลงค่อนข้างมาก และลุกลามมาสู่ภาคการผลิตและย้อนกลับมากระทบต่อการลงทุน 2.สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่คาดว่าความขัดแย้งจะยืดเยื้อและไม่จบลงง่ายๆ ไปจนถึงกระทั่งเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือน พ.ย.2563 แม้ว่าช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา “ทรัมป์” จะมีการพบกับ “สี จิ้น ผิง” รอบการประชุม G-20 ซึ่งส่งผลให้เซนติเมนต์ของตลาดดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังมีความขัดแย้งในหลายๆ ประเทศที่ทยอยเกิดขึ้นตามมาจนกระทบต่อทิศทางของตลาดที่จะมีความผันผวนได้

3.ทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก โดยจะสังเกตว่าบอนด์ยีลด์หรือดอกเบี้ยพันธบัตรของทั่วโลกปรับตัวลดลงมาอยู่ในจุดต่ำที่สุดในรอบหลาย 10 ปี สิ่งที่ธนาคารกลางหลายแห่งกำลังกังวลคือ “ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว” หรือเรียกว่า “inverted yield curve” ซึ่งปัจจัยนี้จะเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก เพราะอาจจะเป็นการส่งสัญญาณถึงเศรษฐกิจข้างหน้าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อตลาดหุ้น ฉะนั้นธนาคารกลางทั่วโลกถ้ามีกระสุนเพียงพอ ต้องปรับตัวและป้องกันไม่ให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะเริ่มใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพราะเศรษฐกิจยังไม่เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยคาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันทำให้เซนติเมนต์นักลงทุนเปลี่ยน

“จังหวะข้างหน้าดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เฟดก็เลยอาจจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ โดยต้องไม่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ ที่ปัจจุบันลงมาต่ำกว่า 2% พอสมควร ฉะนั้นเหลือ Room ระหว่าง 2.25%-1.7% ฉะนั้นควรจะต้องปล่อยให้ดอกเบี้ยอยู่สูงกว่าเงินเฟ้อเล็กน้อย โดยเรามองดอกเบี้ยเฟดจะลดลงมาอยู่ประมาณ 1.7% ซึ่งอาจจะน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง” นายศรชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแนวโน้มไตรมาส 3-4 นี้ นโยบายการเงินจะมีความผ่อนคลายจากธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลก ที่อยู่ในโหมดคล้ายๆ กัน ซึ่งจะเห็นการลดดอกเบี้ยต่อจากนี้ โดยกลยุทธ์การลงทุนในช่วงไตรมาส 3/62 ระยะสั้นยังแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่แนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐยังปรับตัวดีขึ้นจากการลดดอกเบี้ยของเฟด และจากสภาพคล่องในตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งตลาดหุ้นจีนยังมีความน่าสนใจในระยะสั้น ซึ่งได้รับแรงหนุนจากนโยบายการเงินการคลัง และราคายังไม่แพงเมื่อกับตลาดหุ้นในกลุ่มพัฒนาแล้ว

ส่วนการลงทุนในระยะยาวมองว่าประเทศที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานออกจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีไต้ เพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เช่น เวียดนาม ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนทางตรงจากต่างชาติเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี และมูลค่าตลาดหุ้นเวียดนามและการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียดนามยังมีความน่าสนใจ ส่วนตลาดหุ้นไทยยังสามารถลงทุนในระยะยาวได้เพราะยังได้รับปัจจัยหนุนจากการเมืองในประเทศ

อย่างไรก็ตามการลงทุนในช่วงนี้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุการลงทุนยาว แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในทิศทางขาลง แต่มองว่าราคาตราสารหนี้ในรูปแบบดังกล่าวได้รับรู้ปัจจัยของการลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐมากไปแล้ว ซึ่งหากธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้จะส่งผลต่อ Yield curve ที่ปรับเพิ่มขึ้น และราคาตราสารหนี้จะปรับลดลงจากระดับปัจจุบันได้