ดันคุ้มครอง“กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์” ตะลึงยอดหมุนเวียนปีละ2แสนล้าน

กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) อาทิ M-PASS, EASY PASS, TrueMoney, Rabbit และบัตรพรีเพดของแบงก์ต่าง ๆ ที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) กำลังศึกษาขยายความคุ้มครองเพิ่มเติม นอกเหนือจากบัญชีเงินฝาก
สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เดินหน้าศึกษาคุ้มครอง “กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์” เผยเทรนด์ผู้ใช้งาน “อีวอลเลต” พุ่งใกล้แตะ 80 ล้านบัญชี มูลค่าใช้จ่ายกว่า 2 แสนล้านต่อปี หวังลดความเสี่ยงผู้บริโภค ขณะที่ 11 ส.ค. 62 ดีเดย์ลดคุ้มครองเงินฝากเหลือ 5 ล้านบาท ฟาก “ทีเอ็มบี” เชียร์ขยายความคุ้มครองอีมันนี่ เผยมูลค่าใช้จ่ายโตกระฉูดปีละ 40% หวั่นกลายเป็นช่องทางมิจฉาชีพหลอกโกงเงิน

 

ขยายคุ้มครองอีวอลเลต

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่เข้ารับตำแหน่งได้ 2 เดือน ได้ตั้งเป้าว่า ในปีนี้ สคฝ.จะมีการศึกษาขยายขอบเขตความคุ้มครองประชาชนผู้ฝากเงิน ให้ครอบคลุมมากกว่าที่คุ้มครองเฉพาะบัญชีเงินฝาก โดยจะศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการคุ้มครองธุรกรรมทางการเงินใหม่ ๆ อย่างกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) อาทิ M-PASS, EASY PASS, TrueMoney, Rabbit และบัตรพรีเพดของแบงก์ต่าง ๆ เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยข้อมูล ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2562 มีผู้ใช้งานถึง 78 ล้านบัญชี แบ่งเป็นบัญชีที่อยู่กับผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงิน 20 ล้านบัญชี และบัญชีที่อยู่กับผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) อีก 58 ล้านบัญชี โดยมีมูลค่าเงินคงค้างอยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท

“ปัจจุบันเราคุ้มครองเฉพาะบัญชีเงินฝากที่เป็นเงินบาท และผู้ฝากเป็นคนไทย มีถิ่นฐานในเมืองไทย แต่เรากำลังศึกษาว่า อะไรที่เราต้องให้ความคุ้มครองเพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกรรมทางการเงินใหม่ ๆ อย่างวอลเลต ไม่ว่าจะดำเนินการโดยน็อนแบงก์ หรือแบงก์ ซึ่งตอนนี้จะไม่ได้รับความคุ้มครอง หากผู้ให้บริการอีวอลเลตเกิดปัญหาต้องปิดไป ลูกค้าก็จะไม่ได้รับความคุ้มครอง” นายทรงพลกล่าว

เคาะแนวทางสิ้นปีนี้

นายทรงพลกล่าวว่า ตั้งเป้าว่าภายในปีนี้ จะต้องให้ได้ข้อสรุปว่า จะคุ้มครองเพิ่มเติมในส่วนของวอลเลตหรือไม่ และจะคุ้มครองอย่างไร แต่ปัจจุบันจะต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบก่อนว่า อีวอลเลตยังไม่ได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากทุกวันนี้ประชาชนอาจจะยังไม่ทราบว่า มีธุรกรรมใดบ้างที่ได้รับความคุ้มครองยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันถ้าไปซื้อบัตรเติมเงินแบบพรีเพด แม้จะซื้อกับแบงก์ก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง

อย่างไรก็ดี อีวอลเลตไม่ถือว่าเป็นเงินฝาก แต่เป็นการเก็บเงินที่ไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งหากจะคุ้มครองก็อาจจะแตกต่างจากคุ้มครองเงินฝาก

“ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอีวอลเลต คือ พระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอยู่ โดยเป็นลักษณะการให้ไลเซนส์ (ใบอนุญาตประกอบกิจการ) ธุรกิจเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) แต่การดูแลในแง่การชำระคืน หากผู้ให้บริการมีปัญหาต้องปิดกิจการ ยังไม่มี ผู้ใช้บริการทุกคนต้องไปยื่นคำร้องกับทางบริษัทเอง และบริษัทต้องทำเรื่องคืนเงิน แต่ไม่ได้มีระยะเวลากำหนดว่าต้องคืนให้เมื่อใด” นายทรงพลกล่าวและว่า

ประเทศอื่น ๆ ที่มีการใช้งานอีวอลเลตมาก ๆ มีการขยายฐานความคุ้มครองให้ครอบคลุมวอลเลตกันแล้ว โดยเฉพาะประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ ส่วนของประเทศไทย หากมีข้อสรุปออกมาว่า ต้องขยายความคุ้มครองเพิ่มเติม ก็ต้องมีการแก้ไขกฎหมายต่อไป

ส.ค. 62 คุ้มครองเหลือ 5 ล้าน

ผู้อำนวยการ สคฝ. กล่าวด้วยว่า สำหรับการคุ้มครองเงินฝาก จะลดวงเงินความคุ้มครองเหลือที่ 5 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2562 ไปจนถึงวันที่ 10 ส.ค. 2563 และตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2563 เป็นต้นไปจะลดการคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาท ซึ่งจากการทบทวนถึงความเหมาะสมในทุกปี ปัจจุบันยังเห็นว่า วงเงินที่กำหนดยังมีความเหมาะสมอยู่ เนื่องจากยังครอบคลุมบัญชีเงินฝากถึง 98-99% ของจำนวนผู้ฝากเงินทั้งระบบ ขณะที่สถานะของสถาบันการเงินไทยก็มีความแข็งแกร่ง

“อีมันนี่” ทะลุ 2 แสนล้าน

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกรรมอีมันนี่เติบโตอย่างก้าวกระโดด หากดูในช่วง 5 ปีย้อนหลัง พบว่า เติบโตเฉลี่ยถึงราว 40% ต่อปี แบ่งเป็นฝั่งการชำระเงิน (payment) ที่มีมูลค่าการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจาก 5.6 หมื่นล้านบาทในปี 2557 เป็น 2.05 แสนล้านบาทในปี 2561 และไตรมาสแรกปี 2562 นี้ มีมูลค่าการใช้จ่ายอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ฝั่งการเติมเงินก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเช่นกันโดยปี 2557 อยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 2.18 แสนล้านบาทในปี 2561 และ ไตรมาสแรกปี 2562 มีมูลค่าการใช้จ่ายอยู่ที่ 6.9 หมื่นล้านบาท

“มูลค่าการใช้จ่ายและการเติมเงินของอีมันนี่ 5 ปีย้อนหลัง เติบโตก้าวกระโดด จากความต้องการชำระเงินออนไลน์มีมากขึ้น ทั้งมาร์เก็ตเพลซ หรืออีคอมเมิร์ซ และอีสปอร์ตที่เติบโตขึ้นมาก”

โดยเฉพาะอีสปอร์ตเป็นตลาดใหญ่มาก มีการเติมเงินเพื่อเล่นเกมกันเยอะมาก เป็นมูลค่ามหาศาล รวมถึงการชำระเงินผ่านอีมันนี่ที่มีความสะดวกมากขึ้น ประกอบกับการเปิดใช้งานอีมันนี่ ง่ายกว่าการขอใช้บัตรเดบิต ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ นายนริศกล่าว

หนุนกำกับดูแล “อีมันนี่” มากขึ้น

นายนริศกล่าวว่า หากเป็นระบบเปิดบัญชีกับแบงก์ จะต้องมีกระบวนการยืนยันตัวตน (KYC) ที่เข้มกว่าการเปิดใช้พวกอีมันนี่ ทำให้อีมันนี่มีโอกาสถูกมิจฉาชีพหลอกลวงได้มากกว่า ซึ่งในอนาคตการกำกับดูแลอีมันนี่ก็คงจะต้องเข้มข้นมากขึ้น โดยปัจจุบันก็ยังไม่มีหน่วยงานที่กำกับดูแลอีมันนี่โดยตรง หากเกิดปัญหาขึ้น ผู้ใช้บริการก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายเอง

ทั้งนี้ หากจะมีการคุ้มครองเงินที่อยู่ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีวอลเลต) ก็ถือว่าควรทำ เพราะมูลค่าการใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ต้องดูว่าจะสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ให้บริการอย่างไรด้วย

“ถ้าเป็นกรณีบริษัทผู้ให้บริการอีมันนี่ล้มไป เงินที่อยู่ในอีวอลเลตก็จะหายไปเลย เพราะไม่มีการคุ้มครอง โดยหากจะให้มีการคุ้มครองเหมือนเงินฝาก ทางอีมันนี่ก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากเหมือนกับที่แบงก์จ่ายจากฐานเงินฝาก

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ทำได้ลำบาก เพราะอีมันนี่ไม่ได้นำเงินในกระเป๋าเงินไปลงทุนแล้วได้ดอกผลเหมือนกับเงินฝากของแบงก์” นายนริศกล่าว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!