คปภ.หนุนประกันลุยธุรกิจ ตปท. เร่งเฮียริ่งเกณฑ์ใหม่ชงปลัดคลังไฟเขียว

คปภ.เฮียริ่งประกาศฉบับใหม่ เปิดทางธุรกิจประกันไทยขนเงินลงทุนทั่วโลก ขยายขอบเขตจากเดิมจำกัดให้ลงทุนแค่อาเซียน เผยขยายเพดานถือหุ้นในต่างประเทศเพิ่มเป็น 15% ของสินทรัพย์รวม ปิดรับความเห็น 22 ก.ค.นี้ ก่อนชงปลัดคลังลงนาม พร้อมเตรียมจัดทำลิสต์ประเทศ “เหมาะลงทุน” เป็นไกด์ไลน์ให้บริษัทประกัน

แหล่งข่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ คปภ.ได้จัดทำร่างประกาศ คปภ. เรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. …เพื่อขยายขอบเขตให้บริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัยสามารถเข้าไป “ถือหุ้น” ในการประกอบธุรกิจอื่นในบริษัทประกันภัยต่างประเทศได้ทั่วโลก จากเดิมที่กำหนดเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน โดยบริษัทประกันสามารถถือหุ้นตั้งแต่ 10% ขึ้นไปของหุ้นที่ออกจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด แต่มูลค่ารวมหุ้นที่บริษัทถือทั้งหมดต้องไม่เกิน 15% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท

ทั้งนี้ บริษัทประกันสามารถเข้าไปลงทุนถือหุ้นตรงหรือผ่านโฮลดิ้งก็ได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน (เลขาธิการ คปภ.) ก่อน โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไข คือ บริษัทต้องสามารถควบคุม ดูแล และติดตามฐานะการดำเนินงานของบริษัทประกันดังกล่าวให้เป็นไปตามนโยบายและแผนกลยุทธ์ที่บริษัทกำหนด และหากบริษัทประกันที่เข้าไปถือหุ้นไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือไม่สามารถหาราคาตลาดที่เหมาะสมได้ บริษัทต้องกำหนดแนวทางในการประเมินมูลค่ายุติธรรมของหุ้นอย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร

“นอกจากนี้บริษัทประกันต้องส่งสำเนารายงานฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่ได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีของบริษัทประกันที่บริษัทถือหุ้นอยู่ ให้กับคปภ.ทุกครั้งที่ได้จัดทำภายใน 30 วันนับแต่วันประชุมผู้ถือหุ้นมีมติรับรอง และหากเกิดการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน หรือเกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทต้องรายงาน คปภ.ทราบภายใน 30 วัน”

แหล่งข่าวกล่าวว่า คปภ.ได้ขอความร่วมมือให้ภาคธุรกิจแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างประกาศและแจ้งให้ คปภ.ทราบภายในวันที่ 22 ก.ค.นี้ หากไม่มีความเห็นที่ขัดแย้งในสาระสำคัญ คปภ.จะเสนอปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ คปภ. ลงนามประกาศเพื่อให้มีผลบังคับใช้ หลังจากนั้นจะออกประกาศอีกฉบับเพื่อกำหนดคุณสมบัติประเทศและบริษัทประกันภัยต่างประเทศที่จะสามารถเข้าไปลงทุนได้

“เบื้องต้นคาดไว้จะเป็นประเทศที่มีศักยภาพมาพร้อมการเติบโต หรือมีบริษัทประกันระดับ worldwide (ทำธุรกิจทั่วโลก) เข้าไปตั้งสำนักงานอยู่แล้ว นอกจากนี้ ต้องพิจารณาตัวบริษัทประกันภัยที่จะเข้าไปลงทุนด้วยว่า มีอัตราส่วนเงินกองทุนเท่าไหร่ และมีไม่น้อยกว่ากี่ไตรมาส รวมถึงความพร้อมและระบบรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ”

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวว่า การตัดสินใจไปลงทุนต้องขึ้นอยู่แต่ละบริษัทประกัน โดยบางบริษัทอาจจะเข้าไปในรูปแบบสำนักงานผู้แทนก่อน เพื่อศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์โอกาสว่าสามารถเติบโตได้ ซึ่งตั้งแต่ คปภ.เปิดโอกาสให้บริษัทประกันเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนมาระยะหนึ่ง ก็มีบริษัทประกันไปลงทุนพอสมควร ดังนั้น คปภ.เห็นว่าไม่ควรปิดกั้นโอกาส หากบริษัทเหล่านี้มีศักยภาพและความพร้อมที่จะไปลงทุนนอกเหนือภูมิภาคอาเซียน

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า การที่ คปภ.ขยายขอบเขตการลงทุนถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกเหนือจากตลาดอาเซียนแล้ว ยังมีอีกหลายตลาดมากที่เป็นโอกาสในการเข้าไปลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีประสบการณ์ลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนหลายแห่ง อาทิ ถือหุ้นบริษัทประกันในกัมพูชา 49% เป็นต้น

“แต่ร่างประกาศฉบับนี้เพิ่มเติมให้บริษัทประกันต้องรายงานผลประกอบการของบริษัทที่เข้าไปลงทุนด้วย แต่ความถี่จะมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้อยู่ในช่วงพูดคุยกัน” นายสาระกล่าว