“กรมบัญชีกลาง” จัดสัมมนา CoST พร้อมเดินหน้านำร่อง 5 โครงการเข้าร่วม

กรมบัญชีกลางจัดงานสัมมนาโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐของประเทศไทย (CoST)
สร้างกลไกและมาตรฐานของการเปิดเผยข้อมูล เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในทุกๆ ขั้นตอนที่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างภาครัฐ โดยนำร่อง 5 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยภายหลังงานสัมมนาโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐของประเทศไทย (Construction Sector Transparency Initiative: CoST) โดยมีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ในวันนี้ (7 ก.ย. 60) ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค ว่า การนำระบบ CoST มาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้น นับว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะสร้างกลไกและมาตรฐานของการเปิดเผยข้อมูล เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในทุกๆ ขั้นตอนที่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างภาครัฐ และเป็นการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างครั้งสำคัญของประเทศ กรมบัญชีกลางจึงพร้อมที่จะพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความโปร่งใส ทันสมัย เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพเทียบเท่าสากล โดยหวังว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป ดังนั้นกรมบัญชีกลางจึงได้จัดสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอความเป็นมาของ CoST ในประเทศไทย หลักการและแนวทางการดำเนินงานโครงการ CoST การรายงานผลการตรวจสอบข้อมูล รวมถึงอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานนำร่องโครงการ CoST อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาโครงการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อส่งเข้ารับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ CoST ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561

ปัจจุบันมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ที่เข้าร่วมเป็นโครงการนำร่องของ CoST และได้รับการตรวจสอบข้อมูลโดยคณะทำงานตรวจสอบข้อมูล จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2560) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่า 16,655 ล้านบาท 2. โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มูลค่า 31,244 ล้านบาท 3. โครงการบรรเทาอุทกภัย อ.หาดใหญ่ (ระยะที่ 2) ของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 3,712.19 ล้านบาท 4. โครงการก่อสร้างทางวิ่งทางขับท่าอากาศยานเบตง จ. ยะลา ของกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม วงเงินสัญญา 1,316.73 ล้านบาท และ5. โครงการก่อสร้างอาคารสถาบันโรคผิวหนังพร้อมรื้อถอน
ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข วงเงินสัญญา 947 ล้านบาท ทั้งนี้ คณะทำงานตรวจสอบข้อมูล (Assurance Team) ได้ดำเนินการตรวจสอบความครบถ้วนและถูกต้องของข้อมูลที่เปิดเผยตามแนวทาง CoST และจะมีการรายงานผลการตรวจสอบข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะบนเว็บไซต์ CoST ของกรมบัญชีกลางประมาณเดือนตุลาคม 2560

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่ออีกว่า การนำโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) มาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐนั้น เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีการดำเนินการในประเทศไทยมาก่อน ทั้งการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างของหน่วยงานของรัฐ การกำหนดให้มีคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลเพื่อตรวจสอบและแปลข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าใจของประชาชนทั่วไป

“การนำโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) มาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐนั้น เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีการดำเนินการในประเทศไทยมาก่อน ทั้งการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างของหน่วยงานของรัฐ การกำหนดให้มีคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลเพื่อตรวจสอบและแปลข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าใจของประชาชนทั่วไป” นางสาวสุทธิรัตน์ กล่าว