ค่าเงินบาท​เปิดตลาดแข็งค่า​ที่​ 30.80​ บาทต่อ​ดอลลาร์​

เช้านี้​เงินบาท​เปิดตลาดแข็งค่า​ขึ้นเล็กน้อย​ที่​ 30.80 บาท​ต่อ​ดอลลาร์​ จับตาระยะสั้นนักลงทุน​ลดถือ​ครอง​ดอลลาร์​ รอลุ้นเฟดประชุมปลายเดือน ก.ค.นี้

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ประธานนักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า​ ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (19​ ก.ค.)​ ที่ระดับ 30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ แข็งค่าจากระดับ 30.87 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ ในช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

โดยทิศทางการเคลื่อนไหวหลักเป็นไปตามดอลลาร์และทองคำซึ่งล่าสุดสวนทางกัน (ดอลลาร์อ่อนและราคาทองคำปรับตัวขึ้น) จึงเกิดแรงซื้อเงินบาทในช่วงนี้

“สำหรับวันนี้ เชื่อว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าได้ต่อจากทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงหนัก ซึ่งเป็นตัวช่วยให้บอนด์ยีลด์ทั่วเอเชียมีความน่าสนใจมากขึ้น ขณะที่ในระยะสั้น เชื่อว่านักลงทุนจะทยอยลดสถานะการถือดอลลาร์ลงเพื่อหลบความผันผวนในช่วงก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐสิ้นเดือนนี้” นายจิติ​พลกล่าว

สำหรับ​กรอบค่าเงินบาทวันนี้​อยู่​ระหว่าง​ 30.75-30.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​

นายจิติพล​กล่าวว่า​ ในคืนที่ผ่านมา ตลาดทุนฝั่งสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นหลังนาย John Williams หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงินเฟดส่งสัญญาณ “พร้อมลดดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุด” ดัชนี S&P500 จึงปรับตัวขึ้น 0.4% สวนทางกับดัชนี FTSE100 ของอังกฤษที่ปิดลบกว่า 0.6% จากแรงกดดันบนเงินปอนด์ที่แข็งค่า ขณะที่ดัชนี STOXX50 ของยุโรปก็ย่อตัวลง 0.5% จากแรงเทขายหุ้นในกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพราะตลาดมีความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจโลก และกำลังการผลิตที่อาจสูงขึ้นหลังท่อส่งน้ำมันรัสเซียกลับมาเปิดใช้งาน

ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ เริ่มที่ฝั่งเอเชีย กระทรวงการคลังญี่ปุ่นรายงาน ยอดการส่งออก (Exports) ในเดือนมิถุนายน หดตัวกว่า 6.7% จากปีก่อนหน้า ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ก็หดตัวกว่า 5.2%

ที่น่าสนใจก็คือ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับ “ลด” อัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 1.50% พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์แนวโน้มอัตราการเติบโตเศรษฐกิจลง 0.3% สู่ระดับ 2.2% พร้อมกันนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียและธนาคารกลางแอฟริกาใต้ (SARB) ก็ “ลด” อัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 5.75% และ 6.50% ตามลำดับ ชี้ว่าประเทศในฝั่งเอเชียและตลาดเกิดใหม่เข้าสู่ช่วงผ่อนคลายนโยบายการเงินแล้ว


ด้านฝั่งสหรัฐฯ กระทรวงแรงงานเปิดเผย ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Initial Jobless Claims) เพิ่มขึ้น 8 พันราย แตะระดับ 2.16 แสนราย ตามที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ ชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯยังแข็งแกร่งอยู่ ส่วนเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ได้รายงานดัชนีภาวะธุรกิจในภูมิภาคมิดแอตแลนติก (Philly Fed Index) สูงขึ้นจากระดับ 0.3 จุดในเดือนมิถุนายน สู่ระดับ 21.8จุด ในเดือนกรกฎาคม ชี้ว่าภาคธุรกิจมีการขยายตัวจากยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่ และการจ้างงาน