“FinTech” ไทย . . . ทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริง?

ปัจจุบันทั่วโลกต่างตื่นตัวกับเทคโนโลยีหรือ “ฟินเทค” (FinTech) ที่เข้ามามีบทบาทในโลกธุรกิจการเงินมากขึ้นทุกที ทั้งในแง่ของการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งทุนและการทำธุรกรรมทางการเงิน แต่ขณะเดียวก็สร้างความยากลำบากให้กับหน่วยงานที่กำกับดูแลที่จะต้องปรับตัวให้ทัน เพื่อให้การกำกับดูแลกิจกรรมทางการเงินหลายรูปแบบเป็นไปอย่างเหมาะสมและทั่วถึง

วันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “Collaboration for Inclusive Digital Finance: How to Make it Happen?” ภายในงาน Bangkok FinTech Fair 2019 ซึ่งจัดขึ้นโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อพัฒนาบริการทางการเงินดิจิทัล

อนาคตของฟินเทค เขย่าโลกการเงิน

นายแอนโทนี ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Grab ชี้ว่า ฟินเทคจะเข้ามามีบทบาทในแง่ของเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มรายได้ให้กับภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันก็กระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้คนมากขึ้น

ด้านนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ มองในแง่ของผู้ให้บริการธุรกรรมทางการเงินที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นจากเดิมที่มีแต่ธนาคาร

ขณะที่นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง T2P บริษัทสตาร์ทอัพด้านฟินเทค ชี้ว่าปัญหาสำคัญคือ “ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในกาทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น” โดยยกตัวอย่าง SCG ที่ได้เริ่มใช้แพลตฟอร์ม “B2BC” ของ T2P โดยร่วมกับธนาคารในการจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน เป็นการสร้างประสบการณ์ในการใช้จ่ายออนไลน์ให้กับบุคคลทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้โลกการเงินดิจิทัลเป็นไปได้ในอนาคต

ส่วนในด้านของหน่วยงานกำกับดูแลการเงิน ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ฟินเทคจะเข้ามาทำให้บริการทางการเงินมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้นในอนาคต รวมถึงสังคมที่กำลังก้าวสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้เท่าทันโลกเทคโนโลยี

รู้ใจผู้บริโภค ร่วมกันพัฒนาฟินเทค

เมื่อฟินเทคจะมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต จะทำอย่างไรให้การใช้งานฟินเทคขยายตัว นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ชี้ว่าความร่วมมือของทุกภาคส่วนและสร้างประสบการณ์การในการใช้จ่ายเงินผ่านทางออนไลน์ยังเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการแข่งขันพัฒนาฟินเทคเพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน นายแอนโทนี ตันกล่าวเสริมว่า การใช้ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางจะนำไปสู่การแข่งขันและการพัฒนาฟินเทคได้

ด้าน ดร.วิรไท สันติประภพ ได้มองในมุมของผู้กำกับดูแลว่า การแข่งขันทางธุรกิจยังคงต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมและอยู่ภายใต้การกำกับดูแล อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านการกำกับดูแลจะต้องสร้างระบบนิเวศหรือ Ecosystem ที่เหมาะสมต่อการแข่งขันเพื่อดึงภาคธุรกิจเข้ามาร่วมมือในการพัฒนาฟินเทค

ขณะที่นายจรัมพร โชติกเสถียรกล่าวว่า การใช้จ่ายออนไลน์ต่างจากการใช้จ่ายด้วยเงินสด ตรงที่ทุกความเคลื่อนไหวทางการเงินออนไลน์จะถูกบันทึกไว้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจถูกนำไปวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งโดยภาครัฐและภาคธุรกิจ นั่นคือสิ่งสำคัญที่ทำให้หลายคนรู้สึกวิตกกังวลว่าจะถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว การสร้างความเข้าใจเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคสบายใจมากขึ้นที่จะใช้บริการทางการเงินออนไลน์

สร้างความร่วมมือที่ดี ใน “Ecosystem”

สำหรับ Ecosystem หรือการสร้างระบบนิเวศให้เหมาะสมต่อการพัฒนาฟินเทคต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นายจรัมพร โชติกเสถียรชี้ว่า ธนาคารต้องเป็นสถาบันหลักที่อำนวยความสะดวกทั้งต่อภาคธุรกิจและผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ธนาคารยังต้องรักษาความเชื่อมั่นในการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ประสานกันระหว่าง ธนาคาร เอกชนรายใหญ่ และฟินเทค จะยิ่งเพิ่มศักยภาพในการให้บริการทางการเงินดิจิทัล

ส่วนนายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์กล่าวว่า ภาคธุรกิจจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานด้านการกำกับดูแลเพื่อปรับปรุงข้อกำหนดต่าง ๆ ที่อุปสรรคต่อการใช้เทคโนโลยีให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ส่วนนายแอนโทนี ตันชี้ว่า ความร่วมมือระหว่างธุรกิจต่างชาติกับธุรกิจท้องถิ่นโดยเฉพาะการเรียนรู้ซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงต้องสร้างความเชื่อใจกันระหว่างภาคธุรกิจและภาครัฐด้วย

ขณะที่ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ดร.วิรไท สันติประภพระบุว่า การปรับตัวเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเป็นผู้กำกับดูแลและผู้อำนวยความสะดวกเป็นสิ่งสำคัญของภาครัฐ โดยเฉพาะการเน้นไปที่ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ธปท. ได้มีบทบาทในการผลักดันฟินเทคมาโดยตลอด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ พร้อมเพย์ ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานที่เชื่อมต่อกับบัญชีธนาคารราว 50 ล้านราย ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ธปท. ยังตั้งเป้าจะพัฒนา Thai QR Code เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายเงินออนไลน์อีกด้วย

ดร.วิรไท สันติประภพยังได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องสกุลเงินออนไลน์หรือคริปโตเคอเรนซี่ “ลิบรา” ของเฟสบุ๊กที่อาจกลายเป็นส่วนสำคัญของฟินเทคในอนาคต โดยมองว่า ลิบรายังไม่น่ากังวลสำหรับประเทศไทย เนื่องจากสกุลเงินบาทยังคงเป็นที่เชื่อมั่นในความมีเสถียรภาพ และลิบรายังไม่ได้รับการยอมรับจากภาคธุรกิจ ดังนั้นจึง “เป็นไปไม่ได้เลย” ที่ลิบราจะเข้ามาทดแทนเงินบาทได้ อย่างไรก็ตาม ธปท. ยังคงจับตามองลิบราอย่างใกล้ชิดด้วยหลักคิดของมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งอังกฤษที่ว่า “Open mind but not open door” ดร.วิรไทกล่าวทิ้งท้าย