ดีเดย์ภาษีสรรพสามิตอัตราใหม่ เริ่มต้นสบาย บั้นปลายส่อรีดเพิ่ม

ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2560 นี้เป็นต้นไป กรมสรรพสามิตจะเริ่มใช้อัตราจัดเก็บภาษีใหม่ ตาม “พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560” ในทุกชนิดสินค้า

ในการปรับปรุงภาษีรอบนี้ได้รับเสียงชื่นชมจากภาคเอกชนไม่น้อย เนื่องจากกรมสรรพสามิตได้ดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น พร้อมยึดหลักการปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้ว่า เป็นไปเพื่อ “ให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส และเป็นสากล” รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ

อย่างไรก็ตาม บนความชื่นชมนั้น ทางภาคเอกชนก็ยังอดกังวลไม่ได้กับ “อัตราภาษี” ที่จะต้องประกาศออกมาใหม่ เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้มีการเปลี่ยนฐานภาษีจากเดิมใช้ “ราคา ณ โรงงานอุตสาหกรรม” สำหรับสินค้าผลิตในประเทศ และใช้ “ราคา ซี.ไอ.เอฟ.” สำหรับสินค้านำเข้า โดยเปลี่ยนมาใช้ “ราคาขายปลีกแนะนำ” เหมือนกัน

“วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ” รมช.คลัง บอกว่า จะแบ่งสินค้าที่จัดเก็บภาษีเป็น 3 หมวด คือ 1.”สินค้าฟุ่มเฟือย” อาทิ น้ำหอม เครื่องแก้ว เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.”สินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” อาทิ น้ำมัน น้ำมันเครื่อง แบตเตอรี่ รถยนต์ที่เก็บตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เครื่องดื่มที่เก็บจากปริมาณน้ำตาล เป็นต้น และ 3.”สินค้าบาป” อาทิ สุรา ยาสูบ เบียร์ ไวน์ เป็นต้น

โดยการปรับปรุงกฎหมายรอบนี้อยู่บนพื้นฐานว่า “จะไม่สร้างภาระภาษีเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค”

ขณะนี้ส่วนใหญ่ได้เสนออัตราใหม่ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไปแล้ว ยังเหลือเพียงสินค้าที่ “อ่อนไหว” ต่อการ “กักตุน” คือ สินค้าหมวดสุรา และยาสูบ รวมถึงไพ่ ที่ทางกรมสรรพสามิตจะต้องรอนำเสนอ ครม. ตอนใกล้ ๆ จะถึงวันที่ 16 ก.ย.

รมช.คลังบอกด้วยว่า กฎหมายใหม่จะจัดเก็บให้มีความสมดุลมากขึ้น เช่น แต่เดิมสินค้าบางประเภทอาจจะถูกคิดภาษีตามปริมาณ หรือคิดตามราคาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ของใหม่จะเก็บจากทั้ง “ราคาและปริมาณ” ยกตัวอย่าง สินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะยังใช้ฐานทางด้านราคาเป็นตัวนำในการกำหนดอัตราจัดเก็บภาษี มากกว่าจะใช้ฐานทางด้านปริมาณ

“ส่วนพวกภาษีเครื่องดื่มที่มีการจัดเก็บจากปริมาณความหวานก็จะไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาในระยะแรก เพราะแม้จะมีการนำเรื่องน้ำตาลเข้ามาคิดในฐานภาษี แต่เราจะไปลดการเก็บภาษีจากฝั่งมูลค่าลง ฉะนั้นจะมีระยะเวลาให้ปรับตัว เป็นช่วง ๆ ทุก 2 ปี รวม ๆ แล้ว 3 ช่วง” รมช.คลังกล่าว

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิตบอกว่า อัตราภาษีสินค้าสรรพสามิตตามกฎหมายใหม่ ส่วนใหญ่จะปรับลดลง เพื่อให้ได้รายได้เข้ารัฐเท่า ๆ เดิม เนื่องจากเปลี่ยนไปใช้ฐาน “ราคาขายปลีกแนะนำ” โดยสินค้าใหม่ ๆ ที่จัดเก็บเพิ่มเติมก็จะมีชา กาแฟ ที่อยู่ในหมวดเครื่องดื่ม ซึ่งจะถูกจัดเก็บภาษีทั้งตามมูลค่า และเก็บตามค่าความหวาน หรือปริมาณน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมด้วย ทั้งนี้ จะจัดเก็บผู้ผลิตที่ทำในลักษณะเป็นอุตสาหกรรม ส่วนผู้ที่คั้นน้ำผลไม้ที่มีการปิดผนึกแล้วขายเอง ไม่ได้ขายส่ง จะไม่ถูกจัดเก็บภาษี เพียงแต่ต้องทำเรื่องขอยกเว้น

ขณะที่ “สมชาย พูลสวัสดิ์” อธิบดีกรมสรรพสามิต อธิบายว่า เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์จะยังคงจัดเก็บภาษี 2 ขา คือ ทั้งปริมาณและมูลค่า อย่างกรณีภาษีไวน์ เดิมในการจัดเก็บฝั่งมูลค่า ถ้าต่ำกว่า 600 บาท จะไม่ต้องเสียภาษี แต่ไปเสียฝั่งปริมาณแทน ส่วนอัตราที่จะกำหนดใหม่ คงต้องกำหนดมูลค่าที่จะเริ่มจัดเก็บภาษีที่สูงขึ้น เพื่อช่วย “คุ้มครองผู้ผลิตในประเทศ”

ส่วนอัตราภาษียาสูบใหม่ จะจัดเก็บแบบ “2 ขา” เช่นเดิม คือ จัดเก็บตาม “ปริมาณ” และจัดเก็บตาม “มูลค่า” ของสินค้า แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนจากเดิมที่ฝั่งปริมาณจะใช้ “ต่อมวนต่อกรัม” เปลี่ยนเป็นใช้ “ต่อมวน” อย่างเดียว เพื่อปิดช่องที่มีการหันไปผลิตบุหรี่มวนเล็กมาขาย

ด้าน “มัลลิกา ภูมิวาร” ที่ปรึกษาธุรกิจภาคเอกชนและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ จากโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี คอนซัลติ้ง ระบุว่า เห็นด้วยกับหลักจัดเก็บภาษีเพื่อควบคุมด้านสุขภาพ แต่การจัดเก็บ “ภาษีขั้นบันได” เหมือนกับโครงสร้างภาษีน้ำหวานแบบนั้น จะเพิ่มความซับซ้อนที่สวนทางมาตรฐานสากล เพราะโครงสร้างภาษีที่ดีต้องเรียบง่าย เพื่อประสิทธิภาพในการจัดเก็บ ซึ่งภาษีสุรา ยาสูบ ก็เช่นเดียวกัน

“รัฐไม่ควรนำโครงสร้างภาษีแบบหลายขั้นอย่างที่จะใช้กับเครื่องดื่ม มาใช้กับสุรา ยาสูบ หากต้องการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี สมควรใช้แนวทางสากลที่กำหนดอัตราภาษีเดียว ไม่ต้องแบ่งขั้นอัตราตามช่วงราคา หรือช่วงปริมาณ เพราะในมุมมองของสุขภาพแล้ว สินค้าที่มีโทษเท่ากันก็สมควรเสียภาษีในอัตราเดียวกัน” นางมัลลิกากล่าว

ทั้งนี้ยังมีอีกหลายฝ่ายที่จับตาดูว่า จะมีการกำหนดอัตราภาษีสุรา ยาสูบ ออกมาเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาในการปรับขึ้นอัตราจัดเก็บ มักจะอ้างเรื่อง “การดูแลสุขภาพ” ของประชาชน และ “การเพิ่มรายได้” ให้ภาครัฐ แต่ผลที่ได้กลับมายังค่อนข้างมีคำถาม

อย่างกรณีภาษียาสูบ หลังจากมีการปรับขึ้นอัตราจาก 87% เป็น 90% เมื่อปี 2559 ซึ่งทำให้ภาระภาษีเพิ่มขึ้น 30% แต่จากรายงานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค. 59-ก.ค. 60) ของกระทรวงการคลังพบว่า เก็บภาษียาสูบต่ำกว่าเป้าไปถึง 1 หมื่นล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้า 15.3% และถ้าเทียบกับปีที่แล้ว รายได้เพิ่มขึ้นแค่ราว 4%

ขณะที่เมื่อดูอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สำรวจอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป (เฉพาะที่สูบประจำ) พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างทรงตัวที่ระดับ 18-19% ของประชากรทั้งหมด

นอกจากนี้ หากย้อนดูในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า บุหรี่ราคาถูกที่ต่ำกว่า 55 บาทต่อซอง มีส่วนแบ่งการตลาดที่เบ่งบานขึ้นมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสินค้าของโรงงานยาสูบ และอีกส่วนก็จะมีบุหรี่จากประเทศอินโดนีเซียเข้ามาชิงตลาดล่างนี้มากขึ้น

ดังนั้นจึงต้องจับตาว่า การกำหนดอัตราภาษียาสูบที่จะออกมานี้ ภาครัฐจะให้ความสำคัญกับประเด็นไหนเป็นหลัก และคงต้องออกแบบให้ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ที่ต้องการได้อย่างแท้จริงด้วย รวมถึงภาษีในหมวดสุราก็เช่นกัน

นอกจากนี้แม้ในระยะเริ่มต้น ภาษีสรรพสามิตใหม่จะยังไม่สร้างผลกระทบให้ผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ระยะต่อไปมีโอกาสปรับขึ้น เพราะในปีงบประมาณ 2561 กรมสรรพสามิตได้รับเป้าหมายเก็บรายได้เพิ่มเป็น 6 แสนล้านบาท จากเป้าหมายปีงบประมาณ 2560 อยู่ที่ 5.49 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 5 หมื่นล้านบาท


เตรียมใจไว้ได้เลย