บาทแข็งทุบ “กองFIF” ขาดทุนกำไร NAV ลบ 0.47% มูลค่าตลาดหาย3หมื่นล้านบ.

ศูนย์วิเคราะห์ ทีเอ็มบี เปิดผลศึกษา “บาทแข็ง” ปีนี้ฉุดกอง FIF “ขาดทุนกำไร” เผยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งค่า 5.2% ทุบมูลค่าหน่วยลงทุน FIF แล้ว -0.47% ฉุด AUM ภาพรวมตลาดฮวบ 2.75 หมื่นล้านบาท เตือนผู้ลงทุนศึกษาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละกองก่อนตัดสินใจลงทุน ฟากนายกสมาคม บลจ.ยัน FIF ส่วนใหญ่ 70% ทำเฮดจิ้ง

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแล้ว 5.2% ได้ส่งผลกระทบทำให้กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) มีมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ลดลงไปราว -0.47% ส่วนมูลค่ากองทุน FIF ภาพรวม (AUM) ก็หายไปราว 2.75 หมื่นล้านบาท จาก AUM รวมที่มีราว 1.2 ล้านล้านบาท ทำให้ภาพรวมของตลาดกองทุน FIF มีกำไรที่ต่ำกว่าที่ควร หรือเป็นการขาดทุนกำไรนั่นเอง

“การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น กอง FIF ก็จะมี NAV ลดลง โดยหากกองทุนไม่มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (เฮดจิ้ง) เลย สมมุติว่า ลงทุนได้กำไร 5% แต่ถ้าบาทแข็งขึ้น 3% กำไรก็จะเหลือแค่ 2% อย่างไรก็ดี อาการแบบนี้จะเห็นชัด และคนจะรู้สึกก็ตอนที่ขาดทุน แต่ตอนนี้แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่ามาก แต่ตลาด FIF ยังมีกำไร ดังนั้นจึงเป็นการขาดทุนกำไร” นายนริศกล่าว

ทั้งนี้ TMB Analytics ได้ศึกษาการลงทุน FIF แบบรายกอง ที่โครงสร้างการลงทุนจะเป็นการไปลงผ่านกองทุนของต่างประเทศ (master fund) อีกที พบว่า มี AUM รวมกันทั้งหมดราว 1.2 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่ลงทุนในตราสารหนี้ 8.36 แสนล้านบาท ลงทุนในหุ้น 2.34 แสนล้านบาท ลงทุนแบบผสม 1.28 แสนล้านบาท และลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ 2.8 หมื่นล้านบาท

โดยการลงทุนในตราสารหนี้ส่วนใหญ่จะมีการเฮดจิ้งแบบเต็มที่ในสัดส่วนที่มากที่สุด ส่วนการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์จะมีสัดส่วนการทำเฮดจิ้งแบบเต็มที่น้อยที่สุด ส่วนใหญ่ขึ้นกับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน ดังนั้น ในภาวะอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่ำ จนผู้ลงทุนหันไปลงทุนในกอง FIF กันมากขึ้นนั้น ควรต้องพิจารณาด้วยว่า กอง FIF ที่ไปลงทุนมีการทำเฮดจิ้งอย่างไร เนื่องจากมีผลกระทบต่อรายได้ที่ผู้ลงทุนควรจะได้รับ

“เราพบว่ากอง FIF ที่ NAV ลดลงมากที่สุด จะเป็นพวกที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ -0.53% รองลงมาคือ ลงทุนในหุ้น NAV ลดลงไป -0.46% ต่อมา คือลงทุนแบบผสมที่ NAV ลดลงไป -0.44% และลงทุนในตราสารหนี้ NAV จะลดลงไป -0.21% อย่างไรก็ดี การทำเฮดจิ้งของกอง FIF นั้น ผู้จัดการกองทุนแต่ละรายจะไม่ได้เฮดจิ้งทั้งหมด 100% เพราะการเฮดจิ้งมีต้นทุน ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้จัดการกองทุนเป็นหลัก” นายนริศกล่าว

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า มูลค่ากอง FIF ในปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 20-25% ของมูลค่ากองทุนรวมทั้งระบบที่ 5.5 ล้านล้านบาท โดยกองทุน FIF ส่วนใหญ่ที่ขายกันอยู่ในประเทศไทย เกือบ 70% มีการทำเฮดจิ้งอยู่แล้ว ดังนั้น ผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาทก็จะน้อยลงไป

นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.พรินซิเพิล กล่าวว่า กอง FIF ภายใต้การดูแลของบริษัทมี 25 กองทุน โดยมี AUM อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่า บริษัทมีนโยบายเฮดจิ้งในกอง FIF ดังนี้ 1.กองทุนประเภทตราสารหนี้/กองทุนทางเลือก ทำเฮดจิ้ง 100% จึงไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน และ 2.กองทุนประเภทป้องกันความเสี่ยงแบบพลวัต มีการทำเฮดจิ้งตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน โดยปกติจะปิดความเสี่ยงค่าเงินที่ระดับ 80-95% ดังนั้น แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ก็จะมีผลกระทบน้อย