กำไรแบงก์ทรงตัว Q2 ลุ้นตัวโก่งนโยบายรัฐหนุนสินเชื่อฟื้น

ก่อนที่ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินกันว่า ประมาณการว่ากำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2562 กลุ่มแบงก์น่าจะชะลอตัว เนื่องจากครึ่งปีแรกเต็มไปด้วยปัจจัยลบ ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้สินเชื่อชะลอตัวไปตามกัน ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมยังคงกดดันให้รายได้รวมของแบงก์ลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีการแจ้งผลประกอบการ ก็พบว่า ภาพรวม Q2/62 ธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง มีกำไรสุทธิรวมกันที่ 52,803 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.92% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ขณะที่มูลค่าหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL gross) รวมอยู่ที่ 418,575 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.55% YOY

ทั้งนี้ แบงก์ใหญ่ 4 แห่ง ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กำไรสุทธิใน Q2 ลดลงมากที่สุด -9.05% ขณะที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กำไรลดลง -1.22% ด้านธนาคารกรุงเทพ (BBL) กำไรสุทธิ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1.66% ส่วน ธนาคารกรุงไทย (KTB) กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5.99%

โดย “รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือน มิ.ย.62 ปรับตัวลดลง ถือว่าเป็นไปตามคาด เพราะที่ผ่านมา เศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงค่าธรรมเนียมของแบงก์ยังลดลงอีกด้วย เนื่องจากผู้บริโภคมีการทำธุรกรรมบนดิจิทัลกันมากขึ้น

“คาดว่าในครึ่งปีหลังผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์น่าจะฟื้นตัว และกลับมาเติบโตได้ดีขึ้น จากภาคส่งออกที่น่าจะเริ่มกลับมาขยายตัวดีขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะออกมา” นายรณดลกล่าว

รายได้ค่าฟียังกดดัน

“ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการ KBANK กล่าวว่า รายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ของแบงก์ยังถูกกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้การขายประกันภัยผ่านสาขาธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) และรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับตลาดทุนที่ลดลง รวมถึงการยกเลิกค่าธรรมเนียมโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ก็มีส่วนกดดันรายได้ค่าฟีแบงก์ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยของธนาคารในครึ่งปีแรก ลดลงกว่า 17.46% อยู่ที่ 5,475 ล้านบาท อย่างไรก็ดี เฉพาะในไตรมาส 2 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 1,392 ล้านบาท หรือ 11.38%

ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/62 ธนาคารและบริษัทย่อย KBANK มีกำไรสุทธิ 9,929 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน 115 ล้านบาท หรือ 1.15% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 518 ล้านบาท หรือ 2.05% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินลงทุน ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ระดับ 3.34% สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 1,731 ล้านบาท หรือ 10.81% ส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายทางการตลาด และการตั้งสำรองเกษียณอายุของพนักงาน

“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB กล่าวว่า รายได้ค่าฟีและบริการของแบงก์ลดลง จากการยกเว้นค่าฟีการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล รวมถึงการยกเลิกค่าฟีเสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิตผ่านธนาคาร (Bancassurance) ทำให้รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยของแบงก์ในไตรมาสนี้ลดลง 2.3%

“ธนชาต” อ่วมค่าใช้จ่ายพุ่ง

“ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2562 จำนวน 3,592 ล้านบาท ลดลง 1.59% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายพิเศษเพื่อรองรับการชดเชยกรณีพนักงานเกษียณและเลิกจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 5 พ.ค. 62 ส่วนงวดครึ่งปีแรกธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 7,242 ล้านบาท ลดลง 4.71% จากงวดเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้นเนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีของธนาคารหมดไปตั้งแต่เดือน พ.ค. 61

“แต่หากเปรียบเทียบผลการดำเนินงานก่อนภาษี ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรก่อนภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 918 ล้านบาท หรือ 10.58%” นายประพันธ์กล่าว

“กสิกร-SCB” เอ็นพีแอลยังเพิ่ม

ขณะที่ในส่วน NPL แม้ว่าในภาพรวมจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ก็พบว่า แบงก์ใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทยยังมีมูลค่า NPL ที่เพิ่มขึ้นที่ 5.42% ในไตรมาส 2 เช่นเดียวกับธนาคารไทยพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น 2.22% ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา NPL เพิ่ม 2.15% ฟากธนาคารธนชาต NPL เพิ่มขึ้น 5.22% ส่วนธนาคารกรุงเทพ NPL ลดลง 2.04%

ด้านธนาคารกรุงไทย NPL ลดลง 2.83% แต่ยังอยู่ระดับเกิน 100,000 ล้านบาทอยู่ โดยมูลค่า NPL อยู่ที่ 107,438 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ 110,563 ล้านบาท

ลุ้นครึ่งปีหลังสินเชื่อฟื้น

ขณะที่ในด้านสินเชื่อนั้น ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ในไตรมาส 2/62 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2.01 ล้านล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.62% จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการลดลงของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจและสินเชื่อกิจการต่างประเทศ และลดลง 3.2% จากสิ้นปี 2561 ส่วน NPL ratio อยู่ที่ 3.5% หรืออยู่ในระดับเดียวกับไตรมาสที่ผ่านมา

“ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงครึ่งปีแรก การเติบโตทางด้านสินเชื่ออาจจะยังไม่มากนัก แต่ก็หวังว่าช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมีความต้องการใช้สินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้การจัดตั้งรัฐบาลต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว น่าจะทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น

ด้าน “ปรีดี ดาวฉาย” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หวังว่าความต้องการสินเชื่อในครึ่งปีหลังจะดีขึ้น เพราะถ้าดูตามภาวะปกติ ความต้องการสินเชื่อครึ่งปีหลังจะมีมากกว่าครึ่งปีแรกอยู่แล้ว และเมื่อมีรัฐบาลเข้ามาแล้ว โครงการลงทุนต่าง ๆ เดินหน้าได้ ก็น่าจะมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น โดยทุกอย่างน่าจะเข้าที่เข้าทางแล้ว


ตอนนี้ ทุกคนต่างฝากความหวังไว้ที่ครึ่งปีหลัง ว่าเมื่อรัฐบาลเดินหน้าได้แล้ว ปัจจัยบวกจะเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ คงต้องจับตาดูกันต่อไป