ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงก่อนการประชุมธนาคารกลางยุโรป

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/7) ที่ระดับ 30.90/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (23/7) ที่ระดับ 30-90/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากนักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์การเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ โดยล่าสุดสำนักข่าว The South China Morning ได้ระบุว่าผู้แทนทางการค้าฝั่งสหรัฐ เตรียมพร้อมหารือประเด็นทางการค้ากับผู้แทนการค้าจีน ณ กรุงเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนในสัปดาห์หน้า ซึ่งคาดว่าการเจรจาครั้งนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้ประเทศจีนเริ่มสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากทางสหรัฐ หลังจากที่ตกลงกันไว้ในการประชุม G20 เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ส่วนข้อมูลตัวเลขสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐ ในช่วงคืนที่ผ่านมา (23/7) ก็มีทางสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) รายงานว่า ยอดขายบ้านสหรัฐในเดือนมิถุนายนลดลงสู่ระดับ 5.27 ล้านยูนิต ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.33 ล้านยูนิต ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดบ้านในสหรัฐยังคงอ่อนแอ สอดคล้องกับตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ และปีหน้าลงเหลือ 3.2% และ 3.5% ตามลำดับ ซึ่งลดลง 0.1% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน และเป็นการปรับลดการคาดการณ์ครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2561 โดยชี้แจงว่าเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญความเสี่ยงด้านมาตรการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมระหว่างสหรัฐและจีน และการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) แบบไร้ข้อตกลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.88-30.94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.89/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (24/7) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1143/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/7) ที่ระดับข 1.1177/82 ดอลลาร์สหรับ/ยูโร ค่าเงินยูโรรวมถึงค่าเงินปอนด์ปรับตัวอ่อนค่าลงหลังการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการว่า นายบอริส จอห์นสัน ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ทั้งนี้ นายจอห์นสัน ได้ประกาศว่าจะดำเนินการแยกตัวจากสหภาพยุโรป ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเช่นใด สร้างความวิตกกังวลต่อนักลงทุนว่ากระบวนการแยกตัวดังกล่าวจะจบลงแบบไม่มีข้อตกลงใด ๆ (No-Deal Brexit)

นอกจากนี้ทางไอเอสเอช มาร์กิต ได้มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจของยูโรโซนออกมาเพิ่มเติม โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) คอมโพสิตขั้นต้นของประเทศเยอรมนีในเดือนกรกฎาคมชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี โดยที่ดัชนีสำหรับภาคการผลิตอยู่ที่ 43.1 และภาคบริการอยู่ที่ 55.4 อย่างไรก็ดีนักลงทุนยังคงจับตามองถ้อยแถลงของ นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป ว่าจะใช้ถ้อยคำแบบใดในการพูดถึงทิศทางนโยบายการเงินในการประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันพรุ่งนี้ (25/7) โดยนักลงทุนได้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในอนาคตเหมือนกับธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1125-1.1158 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1138/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (24/7) เปิดตลาดที่ระดับ 108.20/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/7) ที่ระดับ 108.18/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนทรงตัวเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังนักลงทุนจับตามองถ้อยแถลงของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ว่าจะมีการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินใดเพิ่มเติมในการประชุมธนาคารกลางสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.98-108.27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.04/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือนกรกฎาคมจากมาร์กิต (24/7) ของสหรัฐ ยอดขายบ้านใหม่เดือนมิถุนายน (24/7) ของสหรัฐ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (24/7) ของสหรัฐ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิถุนายน  (25/7) ของสหรัฐ ดัชนีสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจเยอรมนีเดือนกรกฎาคม (25/7) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2562 (26/7) ของสหรัฐ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.4/-2.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.0/1.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ